การตรวจเพื่อหาความผิดปกติที่เต้านมสามารถทำได้ สามวิธีคือ

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์

3. การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์

ทำไมจึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง ?

ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบลักษณะที่เป็นปกติของเต้านมตนเอง และจะได้ตรวจพบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากโรคเต้านมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งเต้านม แนอกจากนี้การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีการตรวจที่ง่าย สะดวก ประหยัด และเป็นวิธีแรกที่แนะนำให้ผู้หญิงทุกคน หันมาเอาใจใส่หมั่นตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถตรวจเช็คความผิดปกติของเต้านมที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเต้านมเพิ่มเติมให้ละเอียดต่อไป  โดยพบว่าผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ตรวจพบก้อนเนื้อมะเร็งที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ

แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีวิธีการตรวจดังนี้

1. ควรเลือกช่วงเวลาตรวจเป็นช่วง 7-10 วันนับจากวันแรกของรอบเดือน  และควรหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะเริ่มมีการคัด ตึง ทำให้ตรวจได้ยาก และได้ผลไม่ดี (ผู้ที่ตัดมดลูกไปแล้วอาจเลือกตรวจในช่วงที่ไม่มีอาการปวด หรือตึงคัดเต้านม ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยหมดระดู สามารถตรวจได้ทุกช่วงเวลา )

2. ขณะตรวจควรถอดเสื้อและชุดชั้นในออก (เช่นขณะอาบน้ำ)

3. จะตรวจท่านั่ง, ยืนตรวจ หรือตรวจท่านอนหงายก็ได้

4. ตรวจทีละข้าง เริ่มจากข้างใดก่อนก็ได้

5. สมมุติให้เต้านมเป็นรูปวงกลมเหมือนกับหน้าปัทม์นาฬิกา โดยอาศัยตัวเลขบนหน้าปัทม์นาฬิกาบอกตำแหน่งต่างๆ ของเต้านม

6. วิธีตรวจมีดังต่อไปนี้

6.1 ยืนหน้ากระจกอาศัยการมองตรวจดูรูปร่าง ความสมดุลย์ของเต้านมทั้งสองข้างว่ามีบริเวณที่ไม่สมดุลย์กันหรือไม่

           

6.2 ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ตรวจลักษณะของผิวหนังทั้งเต้านมว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น เป็นรอยบุ๋ม, นูนเปล่งขึ้นมา หรือ มีแผล

          6.3 ตรวจบริเวณหัวนมและปานนมว่ามีรอยถลอก คัน บาดแผล หัวนมยุบลง หรือหัวนมบอด ไปหรือไม่

6.4 เริ่มคลำโดยใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ของมือด้านตรงกันข้ามวางที่เต้านมแล้ว กดสัมผัสเบาๆร่วมกับถูโดยอาจถูวนจากหัวนมออกตามเข็มนาฬิกาหมุนวนไปจนทั่วทั้งเต้านม   หรือตรวจตามตำแหน่งของเต้านมที่แบ่งตามตัวเลขบนหน้าปัทม์นาฬิกาไปจนทั่วทั้งเต้านม และให้ตรวจเข้าไปในรักแร้ด้วย ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้แก่ ตรวจพบการสะดุด, คลำได้เนื้อเยื่อแข็งๆ,  กดเจ็บ หรือคลำได้ก้อน

 6.5 สุดท้ายให้บีบที่หัวนมเบาๆเพื่อทดสอบดูว่ามีน้ำไหลออกมาทางหัวนมหรือไม่

7. หากตรวจพบความผิดปกติที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเต้านมทันทีเพื่อตรวจโดยละเอียดเพิ่มเติม

ข้อควรจำ

1. เรียนรู้วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

2. ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเดือนละครั้ง

3. พบแพทย์ทันทีที่ตรวจพบสิ่งผิดปกติที่เต้านม

4. พบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ปีละครั้ง เมื่ออายุ 30 ปีเป็นต้นไป

5. สุภาพสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยละเอียดจากแพทย์ ร่วมกับควรได้รับการตรวจเอ็กซ์เรย์เต้านมปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ

6. ก้อนมะเร็งยิ่งเล็กยิ่งมีโอกาสรักษาหาย โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง

ด้วยความปรารถนาดีจาก thaibreastcancer.com

(อยากให้ผู้หญิงไทย ห่างไกลมะเร็งเต้านม)