“การผ่าตัดเต้านมในปัจจุบันนี้ เป็นการผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมกับการนำวิธีการผ่าตัดทางศัลยกรรมตกแต่งมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย นั่นคือ มีการตกแต่งเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาทดแทนเต้านมเดิมที่ถูกตัดออกไป จากเดิมการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัว เพราะเป็นการตัดเต้านมออกทิ้งทั้งหมด แผลไม่สวย ส่วนการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ผลลัพธ์ที่ได้ก็กลับดูไม่สวย มีการบิดเบี้ยว หน้าอกเสียรูปทรง”  น.พ.หะสัน มูหาหมัด ศัลยแพทย์ด้านเต้านมและโรคมะเร็งเต้านม คลินิกรักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าว

ออนโคพลาสติก รักษาแบบไม่ต้องเสียเซลฟ์

ออนโคพลาสติก (Oncoplastic) ใช้ในความหมาย ในการผ่าตัดของมะเร็งบางอวัยวะ เช่น เป็นมะเร็งที่ศีรษะและลำคอ บางครั้งคุณหมอต้องตัดเนื้อเยื่อออกไปมากๆ ใบหน้าก็ผิดรูป แต่การผ่าตัดแบบนี้เป็นการผ่าตัดตกแต่งด้วย คือ ผ่ามะเร็งให้หาย โดยที่ยังคงรักษารูปลักษณ์ รูปร่าง รูปทรง และการทำงานของอวัยวะที่เป็นมะเร็งได้อยู่ เช่น เป็นมะเร็งที่เบ้าตา หรือใบหน้า ก็มีการผ่าตัดเลาะในส่วนที่เป็นมะเร็งออก เสริมสร้างเข้าไปใหม่ ใส่ทั้งตาปลอม ขนคิ้วปลอม ทำให้เป็นหน้าคนขึ้นมาใหม่ จะได้มีความรู้สึกว่าคงรูปลักษณ์อยู่ คือ Oncoplastic

ในส่วนของเต้านมก็นำเทคนิคนี้มาใช้เช่นกัน ผ่าตัดให้มะเร็งเต้านมหาย เช่น ตัดนมทิ้ง ตัดหน้าอกออก ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนออก และพลาสติกคือ ตกแต่ง เป็นรูปทรงของเต้านมขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม หรือสวยกว่าเดิม มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ต่างๆ ให้ดูดีขึ้นได้

สมัยก่อนมะเร็งเต้านมเมื่อเป็นแล้ว ต้องตัดหน้าอกทิ้ง ทำให้คนไข้มีความรู้สึกกลัว เป็นผลกระทบกับชีวิตเขามาก ทำให้คนไข้บางส่วนหลีกหนีไม่รักษา กลัวการผ่าตัด แต่เทคนิคใหม่ การผ่าตัดแบบเสริมสร้าง จะทำให้คนไข้ลดความกังวลในเรื่องของความสูญเสียหน้าอก

คนไข้บางคนจำเป็นจะต้องตัดออกทั้งเต้าเลย เก็บไว้ไม่ได้เลย เหตุผลคือ เป็นเยอะ หลายที่ หลายจุดหลายหย่อม เก็บหน้าอกไว้ไม่ได้ ต้องนำออกทั้งเต้านม พอเอาออกหมด ปัญหาคือ หน้าอกแบน คนไข้จึงมีความรู้สึกรับไม่ได้ สูญเสียเต้านม

แนวคิดพวกนี้ทางยุโรปเขาก็มีการพัฒนา คิดค้นการผ่าตัดมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี เพราะผู้หญิงตะวันตกจะค่อนข้างอารมณ์อ่อนไหวกับเรื่องหน้าอกค่อนข้างมาก ถ้าเขาสูญเสียไปจะรู้สึกว่าชีวิตเลวร้าย การพัฒนาในการผ่าตัดแบบนี้ทางเขาจึงเจริญมาก ทำจนสำเร็จ บ้านเราเพิ่งมาเริ่ม รู้จักกันไม่กี่ปี ทุกวันนี้บ้านเราเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จำเป็นต้องตัดหน้าอกทิ้งหมด ต้องดีไซน์การผ่าตัดก่อนว่า คนไข้ต้องมีการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่เราจะต้องวางแผนตั้งแต่ตอนต้น ว่าเราต้องเก็บสงวนส่วนใดของผิวหนังเอาไว้บ้าง เพื่อที่จะเป็นผิวหนังที่ยังปกคลุมหน้าอกเอาไว้เหมือนเดิมอยู่ แต่ข้างในจะเป็นวัสดุเทียม เช่น ซิลิโคน ที่จะนำมาเสริมสร้างเพื่อเป็นเต้านมใหม่ เวลาผ่าตัดคุณหมอไม่ได้ตัดผิวหนังออก เขาจะเก็บผิวหนังเอาไว้ แต่เอาเนื้อที่อยู่ข้างในออกเฉยๆ ผิวหนังยังอยู่”

เต้าใหม่ ต้องซิลิโคนทรงหยดน้ำเท่านั้น!

“ต้องใช้ซิลิโคนเป็นทรงหยดน้ำ เนื้อเจลข้างในต้องคงรูป ผิวของวัสดุที่ทำจะต้องเป็นผิวทราย ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของพังผืดเกาะ โดยหลักการเราใช้เต้านมปลอม แต่รายละเอียดว่าจะใช้แบบไหนจะไม่เหมือนกัน บริษัทที่ผลิตเต้านมปลอม เขาก็ผลิตมาแต่ละวัตถุประสงค์ เช่น สำหรับเสริมหน้าอก เอาไปแบบนี้ ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องผ่าตัดเสริมสร้างต้องเป็นแบบนี้ ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีว่าคนไข้จะใช้ไซส์ไหน หน้าอกของผู้หญิงที่เราตัดเนื้อเยื่อของเขาออก เราก็จะมีการเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ เราจะใช้วัสดุเต้านมเทียมที่เป็นซิลิโคนเข้าไปใส่แล้วเอาผิวหนังของคนไข้คลุม การใส่เราจำเป็นจะต้องหาที่วางซิลิโคนให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เราจะต้องใส่ไว้ใต้โพรงกล้ามเนื้อ ให้มีชั้นกล้ามเนื้อหน้าอกคลุมอีกที นี่เป็นเทคนิคของการผ่าตัด เราไม่ได้วางปุ้บเอาผิวหนังไปคลุมแบบง่ายๆ อย่างนั้น ต้องเลาะโพรงใต้กล้ามเนื้อหน้าอก

การเสริมสร้างมีหลายประเภท บางคนใช้กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหลัง แต่วิธีพวกนั้นเก่าและกระทบต่อผู้ป่วยมาก เพราะเป็นการผ่าตัด 2-3 ที่ ผ่านมเสร็จไม่พอ ต้องผ่าที่อื่นอีก เจ็บหลายที่ ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่า ความนิยมลดลงไปแล้ว

เพราะหากเราเลือกซิลิโคนทรงกลม หลังจากผ่าเสร็จ หน้าอกจะไม่ธรรมชาติ กลมบ็อกเหมือนเอาถ้วยมาแปะไว้ ต่างจากอีกข้างที่ไม่ได้เสริม ดูตลก เป็นบล็อกไปเลย มันผิดธรรมชาติ”

ไร้ปัญหานมเบี้ยว ยาน เพิ่ม-ลดไซส์ จัดให้!

“คนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม จะมีการผ่าตัด 2 วิธี คือ ผ่าเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก เรียกว่า ผ่าตัดแบบสงวนเต้า และอีกวิธีคือ การผ่าออกทั้งหมด ในคนที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้า ความหมายคือ ก้อนต้องเล็กพอนะ ไม่ใช่ก้อนใหญ่ สามารถตัดออกไปได้หมด ไม่ใช่เล็กแต่หลายเม็ดกระจายเป็นเม็ดสาคูทั่วเต็มไปหมด ควรจะเป็นก้อนบริเวณเดียว แต่ปัญหาของการสงวนเต้าคือ ทำเสร็จจะเบี้ยว ผ่าตัดเสร็จ เย็บแผลเสร็จ ไปฉายแสงปุ้บ เบี้ยวเลย 

แต่หากเราใช้เทคนิคแบบ Oncoplastic เข้ามาทำ มันดีอย่างไร จะลดปัญหาของการเบี้ยวได้ เพราะเราใช้วิธีการทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาประยุกต์ เช่น การเอาปริมาณก้อนออก การลดขนาดของเต้านมที่ใหญ่ เช่น คนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านมและมีเต้านมขนาดใหญ่ด้วย เราต้องลดขนาดหน้าอกให้เล็กลงด้วย ให้เขาอยู่ได้ด้วย อีกข้างเราต้องตกแต่งให้ขนาดเท่ากันด้วย

 เช่นคนไข้หน้าอกใหญ่แต่หลังผ่าตัดนมเล็กลง ต้องตกแต่งอีกข้างหนึ่งให้สวย และทำให้เขารู้สึกดีขึ้นด้วย ประสบการณ์ที่หมอผ่าตัดมา สำหรับคนไทย หากผ่าตัดมะเร็งเต้านมแล้ว อีกข้างยังสวยอยู่ ก็เก็บไว้ก่อนยังไม่ผ่าตัด ก่อนผ่าตัดเราต้องดีไซน์ ต้องวัดระยะ เลือกซิลิโคนเบอร์เท่าไหร่ คือทำแล้วต้องดีขึ้นกว่าเดิม เราจะเก็บผิวหนังไว้ คือคว้านเอาแต่ส่วนที่มะเร็งด้านในออก หัวนมก็เก็บเอาไว้ พอผ่าเสร็จผิวหนังจะลอยขึ้นมาเลย เมื่อเอามะเร็งออกเราก็ใส่เต้านมเทียมเข้าไป

จากนั้นจะได้เต้านมใหม่ ข้างในคือ นมปลอม ส่วนนมอีกข้างก่อนหน้านี้ จะมีลักษณะหย่อนคล้อย ก็ตกแต่งให้สวยขึ้นเท่ากับอีกข้าง

ปัญหาของการผ่าตัดแบบสงวนเต้าปัญหาคือ เต้านมเบี้ยว เราจะใช้เทคนิคทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาประยุกต์ จะดูดีขึ้นเต้านมปลอมจะไปอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ในคนไข้ก่อนทำต้องวางแผนอย่างดี พอให้ยาทุกอย่างเรียบร้อย ถึงเวลาคนไข้รู้สึกว่าพร้อม เราก็จะให้คนไข้มาทำหัวนมอีกข้าง ต้องเป็นทรงหยดน้ำเท่านั้น

สมมติคนไข้อยากผ่าตัดเสริมเต้านมอีกข้าง ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งให้ใหญ่ขึ้น จริงๆในกระบวนการการผ่าตัด เราต้องถามคนไข้ก่อนว่า ต้องการแบบไหน ต้องถามตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ถามก่อนว่า หน้าอกหลังทำเสร็จแล้วต้องการให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม หรือไซส์เท่าเดิม หรือน้อยลง ต้องการแบบไหน ถ้าคนไข้บอกว่าไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ต้องการแค่ผ่าตัดแล้วใส่นมปลอม แต่ถ้าคนไข้ต้องการแต่งอีกข้างให้ดูดีขึ้นหน่อย เราก็จะผ่าตัดยกกระชับอีกข้างให้ไม่หย่อนคล้อย

ถ้าคนไข้บอกว่าต้องการเสริมอีกข้างให้ใหญ่ขึ้นด้วย อีกข้างเราจะใส่เต้านมปลอมที่ขยายได้ เรียกว่าฐานขยายผิวหนัง เราจะไม่ใส่ตัวจริงทันที ต้องมีการวางแผนก่อนว่า ต้องการให้ใหญ่แค่ไหน จากนั้นก็ขยายให้ใหญ่ไปเรื่อยๆ ประมาณ 8 เดือน ผิวหนังของเขาตรงนี้ถูกขยายเต็มที่ มีปริมาตรเพียงพอที่จะรองรับเต้านมปลอมตัวจริงที่ใหญ่ได้ ตอนนั้นเราก็มาดูว่าจะใส่ได้เบอร์เท่าไหร่ แล้วอีกข้างต้องใส่เบอร์เท่าไหร่ มะเร็งหายไปแล้ว แต่จะเป็นการเสริมหน้าอกไปในตัว

ส่วนใหญ่คนไข้ที่เป็นคนไทยแค่อยากให้มะเร็งหาย แล้วก็ใส่ซิลิโคนเข้าไปในข้างที่เป็นมะเร็งให้หน้าอกดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยที่คนไข้ไม่ได้ร้องขอ ว่าให้ทำอะไรอีกข้างหนึ่ง ถ้าคนไข้ร้องขอว่าทำอีกข้าง เราก็ผ่าตัดให้ แต่หากเป็นคนไข้มะเร็งเต้านมทางยุโรปเขาจะให้หมอเสริมเต้านมอีกข้างที่ไม่เป็นมะเร็งเลย”

ไม่ต้องนวด ไร้กังวลนมใหม่แข็ง พังผืดเกาะ

“โดยส่วนใหญ่การดูแลรักษาเต้านมปลอมที่เป็นซิลิโคนเจลปัจจุบันนี้ไม่ยุ่งยาก โดยเฉพาะซิลิโคนผิวทราย และตำแหน่งที่เราวางซิลิโคนจะอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ฉะนั้นอัตราในการพังผืดจะต่ำมาก ต่ำที่สุดประมาณ 10%

ทั้งนี้พังผืดอาจจะเพิ่มขึ้นได้ หากคนไข้ต้องไปฉายแสง บางคนไม่ต้องฉายแสงก็มี คือถ้าต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ก็แนะเป็นซิลิโคนเจลไปเลย แต่ถ้าคนไข้ที่จะต้องฉายแสง เราจะไม่แนะนำให้ทำแบบนี้ คือหลีกเลี่ยงไปเลย เว้นไว้ก่อน รักษามะเร็งให้หายขาดก่อน หลังจากนั้นจะทำค่อยว่ากัน เพราะว่าการฉายแสงจะเป็นผลกระทบต่อการใส่ซิลิโคนด้วย หรืออาจจะกระทบมากถึงขั้นมีผลต่อแผลด้วย อันนี้ในทางทฤษฎีนะ แต่ในทางปฏิบัติก็น้อย แต่เพื่อความไม่ประมาทเราจะบอกคนไข้ก่อนเลยว่า การใส่ซิลิโคนแล้วไปฉายแสงมันอาจจะมีความเสี่ยงต่อแผลได้ รวมทั้งทำไปแล้วสวย แต่ฉายแสงออกมากลายเป็นไม่สวย ก็มีโอกาส แต่เปอร์เซ็นต์ยังน้อยอยู่ ไม่ถึง 20%

ระยะเริ่มแรก ก้อนเล็กๆ ระยะ 1- 2 ไม่เกินนี้ สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้หมด มีการคาดการณ์ก่อนผ่าตัดว่า คนไข้ไม่ถึงขนาดต้องฉายแสง เหมาะจะเสริมด้วยซิลิโคน

ส่วนการนวดหน้าอกหลังเสริมเต้านมปลอม จริงๆไม่แนะนำเลย ที่ต้องนวดเพราะใช้ซิลิโคนแบบกลมเลยนวดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดพังผืดเกาะ แต่ซิลิโคนตัวนี้ไม่ได้ใส่ในเนื้อนม ใส่ใต้กล้ามเนื้อปัญหาในการที่พังผืดเกาะจึงไม่กระทบอะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะไม่ได้มีเนื้อหน้าอกมาหุ้ม เป็นกล้ามเนื้อหุ้ม และมันไม่มีนมที่เหลือให้เป็นพังผืดเกาะ

อายุการใช้งานอาจจะเป็น 10 ปีขึ้น ของพวกนี้ไม่ได้จีรังยั่งยืนเท่าไหร่ ผ่านไป 10 ปี หากมีการเปลี่ยนแปลงของหน้าอกอีกข้าง ย้อยลงมาเยอะๆ แต่อีกข้างไม่ย้อยแล้ว ก็อาจจะต้องมีการตกแต่งใหม่ อาจจะตกแต่งอีกข้างให้เล็กลง พร้อมกับเปลี่ยนซิลิโคนใหม่เป็นแบบที่ขนาดเหมาะสมมากขึ้นในอนาคต หรือคนไข้พอใจที่จะมีซิลิโคนแบบเดิมอยู่แล้ว หน้าอกข้างที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอาจจะแค่ตกแต่งเล็กน้อย

ที่มา :- บทสัมภาษณ์ นพ. หะสัน มูหาหมัด โดย Manager Online