คำถามที่คุณผู้หญิงหลายท่านสงสัยว่าจริงหรือที่ใครเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องถูกตัดเต้านมทิ้ง? คำตอบคือ ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะการแพทย์เดี๋ยวนี้สามารถรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่ ด้วยนวัตกรรมการผ่าตัดที่นอกจากจะมุ่งเน้นการรักษาโรคให้หายแล้ว ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการรักษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นมากด้วย

นพ.หะสัน มูหาหมัด ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็งเต้านม คลินิกรักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1 เปิดเผยว่า การผ่าตัดแบบออนโคพลาสติก หรือ Oncoplastic Breast Surgery ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม กับการนำวิธีการผ่าตัดทางศัลยกรรมตกแต่งมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย ซึ่งจากเดิมการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัว เพราะเป็นการตัดเต้านมทิ้งออกทั้งหมด แผลไม่สวย หรือไม่ก็ผ่าตัดแบบสงวนเต้า แต่ผลการผ่าตัดทำให้เต้าที่เก็บสงวนไว้กลับดูไม่สวย มีการบิดเบี้ยว เสียรูปทรง

การผ่าตัดแบบออนโคพลาสติก หรือแบบใหม่นี้ เป็นการคำนึงถึงผลการผ่าตัดด้วยว่า ต้องรักษาโรคให้หายควบคู่กับได้เต้านมที่ดูสวยขึ้นด้วย แม้ว่าผู้ป่วยต้องตัดเต้านมออกหมดทั้งเต้า (เนื่องจากมีโรคมะเร็งเกิดขึ้นหลายจุด) หรือผู้ป่วยจะผ่าตัดแบบสงวนเต้าก็ตาม โดยผู้ที่ผ่าตัดเต้านมออกหมดจะใช้กรรมวิธีการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ โดยทำพร้อมไปกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมในขั้นตอนเดียว (หรืออาจมาทำในภายหลังก็ได้) คือว่าพอตื่นขึ้นมาจากการผ่าตัดก็ยังมีเต้าอยู่ ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสียเหมือนการตัดเต้านมทิ้ง

ส่วนในผู้ที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้า ก็จะใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยออกแบบบาดแผลและกะเกณฑ์ปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรงหรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด ขณะเดียวกันก็จะมีการผ่าตัดตกแต่ง ปรับรูปทรงหรือขนาดของเต้านมอีกข้างให้ออกมาสวยงามดูดีเท่าๆ กันทั้งสองเต้าพร้อมกันไปด้วย

คุณหมอยืนยันว่าการผ่าตัดแบบใหม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกระยะ แต่ในแง่ของความสวยงามจะได้ผลดีมากที่สุดในผู้ที่เป็นระยะต้น หรือระยะเริ่มแรก เนื่องจากก้อนมะเร็งยังไม่ทำลายเนื้อเยื่อเต้านมส่วนอื่นเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะผิวหนัง นอกจากนี้ยังสามารถเก็บหัวนมไว้ได้อีกด้วย ส่งผลให้เต้านมที่เสริมสร้างขึ้นมาใหม่ดูเหมือนเต้านมธรรมชาติมากที่สุด

“ถึงแม้การผ่าตัดมะเร็งเต้านมสมัยนี้ แพทย์จะสามารถตัดเต้านมแล้วเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้สวยงามได้ แต่อย่าลืมว่าผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจเช็กมะเร็งเต้านมประจำปีอยู่เสมอๆ เพราะการรักษามะเร็งเต้านมให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ต้องค้นพบโรคตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้นๆ การที่เราไม่เคยตรวจเช็กมะเร็งเลย แล้วอยู่ดีๆ เมื่อคลำพบก้อน ส่วนมากมักจะเป็นเยอะแล้ว มีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง การรักษาก็ทำได้แต่ก็ได้ผลไม่ดีเท่าผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการ” นพ.หะสัน กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์ นายแพทย์หะสัน มูหาหมัด โดย หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์