การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด ต้องผสมผสานการตรวจ 3 แบบคือ การคลำโดยแพทย์ การตรวจแมมโมแกรม และการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ แผนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นมาตรฐาน สำหรับแต่ละวัยมีดังนี้

เมื่ออายุ 20-34 ปี

1. ควรได้รับฟังคำอธิบายถึงประโยชน์และข้อจำกัดของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

2. ควรเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

3. ควรคลำเต้านมของตนเองเดือนละหนึ่งครั้ง

4. ควรพบแพทย์เพื่อตรวจการคัดกรองมะเร็งเต้านมหนึ่งครั้งทุกๆ 3 ปี

เมื่ออายุ 35-74 ปี

1. ควรรับทราบประโยชน์และข้อจำกัดของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (ผิดพลาดได้ 10-15%)

2. ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (ตรวจเต้านมโดยแพทย์+ แมมโมแกรม+อัลตราซาวน์) 1 ครั้งช่วงอายุ 35-40 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้งทุกปีจนกว่าอายุได้ 69 ปี

เมื่ออายุ 75 ปีขึ้นไป

การจะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมต่อไปหรือไม่ หรือ จะทำบ่อยแค่ไหน ควรพิจารณาจากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพ ณ เวลานั้น

หมายเหตุ

กรณีที่การตรวจคัดกรองพบสิ่งที่คาดว่าน่าจะปกติที่พบได้ในเต้านม (Probably Benign Lesion: BIRADS 3) แพทย์จะนัดตรวจติดตามทุก 6 เดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี หากสภาพดังกล่าวไม่ดำเนินไปในลักษณะมะเร็ง ก็เลิกตรวจติดตามในลักษณะนี้ แต่ให้ไปเข้าโปรแกรมตรวจคัดกรองปีละหนึ่งครั้งตามปกติ

ในกรณีที่มีการตรวจคัดกรองแล้วพบว่า สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง (Suspicious lesion: BIRADS 4 – 5) แพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการตัดชิ้นเนื้อตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ใช้เข็มเล็กๆเจาะดูด (FNA) หรือใช้เครื่องเจาะคล้ายเข็ม เจาะชิ้นเนื้อออกมาเป็นแท่ง (core biopsy) หรือใช้วิธีตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจการผ่าตัดเล็ก