รู้หรือไม่ว่าถ้าดูจากสถิติการแพทย์แล้ว สาวไทยอย่างเรามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปี เรียกว่าเจอได้ตั้งแต่อายุ 20 ปลายๆ ไปจนถึง 80 ปี ยิ่งช่วง 35-50 ปียิ่งเจอบ่อย และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สาวๆ กังวลไม่น้อยกว่าตัวโรคมะเร็งเองนั้นก็คือ การต้องตัดเต้านมทิ้ง

แต่ด้วยวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Oncoplastic Breast Surgery หรือการผ่าตัดสงวนเต้า ที่เปิดโอกาสให้คนไข้ยังคงมีเต้านมอยู่ได้หลังการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกไปแล้ว หรือในเคสที่ต้องผ่าตัดลดไซส์ของเต้านมที่ใหญ่เกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ นี่ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

อาการผิดปกติ ที่สังเกตได้

ถึงมะเร็งเต้านมอาจจะไม่มีอาการเจ็บปวดเตือนเราในระยะแรก แต่สิ่งที่เราจะสังเกตเองได้ก่อนก็คือ เมื่อไหร่ที่พบความผิดปกติที่เต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างของเต้า มีรอยย่น บุ๋ม หดตัว หรือมีสะเก็ด หัวนมคันหรือแดงจนผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกมาจากหัวนม หรือแม้แต่มีการบวมของรักแร้ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะดีกว่า

เคสแรกกับความสำเร็จ

คุณหมอเล่าว่า “คนไข้เป็นผู้หญิงอายุ 40 ปี เป็นมะเร็งที่เต้านมด้านซ้าย เธอเลือกผ่าตัดแบบสงวนเต้า และเนื่องจากเธอมีปัญหาเต้านมขนาดใหญ่ ทำให้ปวดหลังและไหล่ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์เลยวางแผนการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกโดยไม่ตัดเต้านม และยังลดขนาดหน้าอกไปในคราวเดียวกันเพื่อไม่ให้คนไช้เจ็บหลายครั้ง” ซึ่งผลที่ออกมาคือผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ โดยไม่ต้องทนกับอาการปวดหลังเหมือนที่ผ่านมา

ขั้นตอนก็เป็นสิ่งสำคัญ

ในการทำการผ่าตัดโรคมะเร็งเต้านมทุกครั้ง คุณหมอจะต้องคำนึงถึงแนวทางการผ่าตัดให้ชัดเจนก่อน “จะไม่เน้นทำลายเต้านมเหมือนเมื่อก่อน แต่จะมุ่งกำจัดเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งร้ายให้หายขาด เพื่อคงสภาพเต้านมเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบออนโคพลาสติคหรือการเสริมเต้านมขึ้นมาใหม่ ”

ไม่ใช่ใครก็ทำแบบนี้ได้

ถึงการผ่าตัดแบบนี้จะได้ผลดี แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหลายก้อนในเต้านม ที่อาจจะต้องมีการตัดออกทั้งหมดเพื่อกันการลุกลามไปยังจุดอื่นๆ เป็นต้น

แต่สิ่งที่ทำได้ทุกคน คือ…. การป้องกันและดูแลที่ดีที่สุด คุณหมอแนะนำว่าเราควรจะตรวจเต้านมตัวเองเป็นประจำทุกเดือน ถ้าพบการผิดปกติเมื่อไหร่ ให้รีบไปหาหมอทันที และผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ก็ควรไปตรวจแมมโมแกรมกับแพทย์เฉพาะทางปีละครั้ง เพื่อป้องกันโรคมะเร็งเต้านมด้วยเหมือนกัน

 

นพ. หะสัน มูหาหมัด
ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็งเต้านม
คลินิกรักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร. 02-640-1111 ต่อ 3659, 3660