การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังหมดประจำเดือน (HRT) มีข้อดีคือช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ แสบร้อนในช่องคลอด ปัสสาวะบ่อย ลดปวดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ลดความเครียด ซึมเศร้า กังวล ทำให้ดูแข็งแร็งขึ้น ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วย

ขณะที่การใช้ฮอร์โมนทดแทนมีคุณอนันต์ในแง่ของการรักษาอาการวัยทอง แต่การใช้ฮอร์โมนทดแทน ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือมันไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขาแล้วหลุดไปที่ปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตจากลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดในสมอง เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดเเพิ่มขึ้น อาจทำให้ปวดหัว น้ำหนักเพิ่ม ผมร่วง ข้อไม่ดีของฮอรโมนทดแทนนี้มาจากงานวิจัย WHI ซึ่งศึกษาในหญิงวัยทอง 27,000 คน ตามดู 5-7 ปี จัดว่าเป็นงานวิจัยใหญ่ที่สุดแต่ก็มีข้อโต้แย้งอยู่บ้างทั้งจากสูตินรีแพทย์ และจากผู้ป่วยที่นิยมใช้ฮอร์โมนทดแทน เช่นว่าคนไข้ในงานวิจัยนี้ส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุมากเกิน 65 ปีไปแล้ว ถ้าเจาะจงดูเฉพาะกลุ่มหญิงที่เพิ่งหมดประจำเดือนไปไม่ถึง 5 ปี จะพบว่าสารพัดข้อเสียที่ว่ากลับไม่ค่อยเจอเท่าไร เป็นต้น

เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนมีทั้งข้อดีข้อเสีย จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆไป แพทย์จะเลือกใช้ในรายที่มีอาการมาก และเมื่อใช้ก็จะใช้ให้สั้นที่สุด ปัจจุบันนี้กรณีที่ถือว่าเป็นข้อห้ามใช้ฮอร์โมนทดแทนคือ กรณี
(1) เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม
(2) มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบเหตุ
(3) เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
(4) เป็นหรือเคยเป็นลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ขาหรือที่ปอด
(5) เป็นโรคหัวใจขาดเลือด
(6) เป็นความดันสูงที่ยังคุมไม่ได้
(7) เป็นโรคตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคสารพอร์ไพรินคั่งในตับ
(8) แพ้ฮอร์โมน

อย่างไรก็ตาม ในการใช้ฮอร์โมนทดแทน แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลประโยชน์และความเสี่ยง แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือไม่

ที่มา :- รพ.พญาไท 1