หลังจากได้รับการรักษามะเร็งเต้านมแล้ว โอกาสพบมะเร็งกลับมาใหม่ หรือตรวจพบมะเร็งแพร่กระจายมักจะสูงภายใน 5 ปีแรก และสูงที่สุดใน 2-3 ปีหลังการผ่าตัด แต่หลังจาก 5 ปี ไปแล้วนั้น โอกาสที่โรคจะกลับมาจะพบได้น้อยลง แต่แพทย์ก็มักจะพบผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นมะเร็งใหม่ได้อยู่บ้าง

อาการ..ที่แสดงว่าโรคอาจจะกลับมาเป็นใหม่

ปวดกระดูก กล้ามเนื้อ ปวดหลัง ไอเรื้อรัง แน่นท้องส่วนบน อาหารไม่ย่อย น้ำหนักลด มีความผิดปกติที่แผลผ่าตัดหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

ข้อควรปฏิบัติตน

1. หากมีอาการดังกล่าวหรือรู้สึกไม่สบายควรรีบกลับไปพบแพทย์

2. ตรวจและสังเกตบริเวณที่ผ่าตัดและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เสมอ ถ้าผิดปกติ ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพราะการรักษาจะทำได้ง่ายกว่าการที่มะเร็งลุกลามไปยังกล้ามเนื้อและกระดูก

3. พบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตลอดชีวิต

4. ถึงแม้จะมีข้อมูลว่าการตรวจเลือดหามะเร็งหรือการเอกซเรย์พิเศษต่างๆไม่ได้ประโยชน์ (15-25% พบโดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ) แต่ถ้าผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง พบว่าการตรวจเลือดหามะเร็งยังมีประโยชน์ โดยจะพบมะเร็ง 6-8 เดือนก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการ ซึ่งจะช่วยประคับประคองผู้ป่วยได้พอสมควร

5. อย่าลืมตรวจเต้านมด้วยตนเองและโดยแพทย์ และทำแมมโมแกรมทุกปี

เต้านมอีกข้างหนึ่ง..กับการเกิดมะเร็ง

1. มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไป โดยพบประมาณ 0.5-1 % ต่อปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่อายุน้อย หรือมีประวัติมะเร็งเต้านมในญาติพี่น้อง

2. ถ้าได้รับการฉายแสงของเต้านมข้างที่เป็นจะเพิ่มความเสี่ยงของด้านตรงข้าม โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี

การออกกำลังกายกับมะเร็ง

การออกกำลังกายพบว่ามีผลดีกับผู้ป่วย โดยนอกจากจะให้ผลในการป้องกันและรักษามะเร็งแล้วยังอาจจะมีผลป้องกันการกลับมาเป็นใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเริ่มต้นออกกำลังกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอคำแนะนำว่าจะออกกำลังกายแบบไหนและอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับตนเอง

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน เบาหวาน มะเร็งเต้านม และโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด แต่การออกกำลังกายจะช่วยลดการกลับเป็นใหม่ หรือลดการแพร่กระจายของมะเร็งหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

1. ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความอ่อนเพลีย กังวลและเพิ่มพลังชีวิต

2. เพิ่มความแข็งแรงของหัวใจ ลดน้ำหนัก หายใจให้เต็มปอด

ควรออกกำลังกายอย่างไร ?

ให้ออกกำลังกายแต่พอประมาณทุกวัน วันละ 30 นาที เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ถูบ้าน ทำสวน เป็นต้น แต่ระวังอย่าให้ขาดน้ำและเกลือแร่ในขณะออกกำลังกาย

• ถ้ามีกระดูกบาง กระดูกพรุน หรือมะเร็งเข้ากระดูกจะต้องไม่กระโดดหรือบิดสะโพก เพราะกระดูกอาจหักได้

• ในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัดต้องระวังการออกกำลังกาย เพราะการทรงตัวไม่ดีอาจล้ม

• การปรับการดำเนินชีวิตให้เป็นการออกกำลังกายไปในตัว เช่น จอดรถให้ไกลจากที่ทำงานซึ่งเป็นการบังคับตนเองให้เดินไปำงาน ไม่ใช้ลิฟท์แต่ให้เดินขึ้นลงบันไดแทน

การสูบบุหรี่

เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก และโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้คนรอบข้างยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งอีกด้วย

การดื่มสุรา

เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เพราะเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แนะนำไม่ควรดื่มมากกว่า 1-2 แก้วต่อวัน โดยในคนที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วไม่มีข้อมูลชัดเจน สำหรับผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน การงดดื่มสุราน่าจะดีที่สุด

ความอ้วน

เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและทำให้มะเร็งเต้านมร้ายแรงขึ้น ดังนั้นควรลดน้ำหนักให้ อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยการออกกำลังกายเพื่อลดไขมันส่วนเกิน อย่างไรก็ตามไม่ควรลดน้ำหนัก ในช่วงให้ยาเคมีบำบัด และควรลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 ปอนด์ต่อสัปดาห์

การรับประทานอาหารให้เหมาะ

ช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านม และสำหรับคนที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว อาจจะลดการกลับมาเป็นใหม่ได้ สมาคมแพทย์มะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อแนะนำอาหารในการป้องกันมะเร็งไว้ดังนี้

1. เลือกรับประทานอาหารที่มาจากพืชเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผัก ผลไม้ วันละ 5 มื้อ เนื่องจากผักและผลไม้อุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งวิตามินซึ่งมีผลในการป้องกันมะเร็งได้ การรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้เป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งอื่น ๆ

2. เลือกรับประทานอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น ข้าว ขนมปัง เมล็ดพืช เป็นต้น

3. ลดอาหารประเภทไขมัน โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์

4. รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ พบความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่มีไขมันสูงกับมะเร็งเต้านม มีการศึกษาพบว่าอาหารที่มีไขมันต่ำอาจจะช่วยลดการกลับเป็นใหม่ของมะเร็งเต้านม โดยอาหาร ไขมันต่ำจะได้พลังงานจากอาหารไขมันประมาณ 20% ไขมันที่ได้ควรเป็นไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันมะกอก เป็นต้น

การอดอาหารกับมะเร็ง

ผู้ป่วยบางรายมีความเชื่อที่ผิดว่า หากอดอาหารแล้วจะไม่มีอาหารไปเลี้ยงมะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่จากการศึกษาพบว่าการอดอาหารไม่ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น กลับเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน จึงมีข้อแนะนำว่า ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับพลังงานจากอาหารอย่างพอเพียงทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ควรลดน้ำหนักให้พอดี และมีสารอาหารเก็บไว้ในร่างกายอย่างเพียงพอ

อาหารมังสวิรัติกับมะเร็ง

มีการศึกษาที่ติดตามผู้ป่วยนาน 17 ปี พบผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคต่างๆ ในกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า อาหารมังสวิรัติจะป้องกันการกลับเป็น ใหม่ของมะเร็งเต้านมได้

นม และผลิตภัณฑ์จากนม กับมะเร็ง

ข้อมูลด้านมะเร็งยังขัดแย้งกันอยู่ เพราะมีทั้งการศึกษาที่พบว่านมช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม นมมีแคลเซียมและวิตามินดีซึ่งมีประโยชน์ต่อกระดูก ในขณะที่ไขมันในนมทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มีข้อมูลว่านมเพิ่ม growth factor คือ insulin growth factor 1 ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือน และมะเร็งปอด

ที่มา :- สมาคมโรคเต้านม