5 มะเร็งร้าย ได้แก่ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูกและเต้านม, มะเร็งพันธุกรรม และสุดท้ายคือมะเร็งกระดูก

มะเร็งระบบทางเดินอาหาร

มะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 และ มะเร็งลำใส้ใหญ่ คือสาเหตุ การเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด “

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอาการที่มักเริ่มจากท้องน้อยด้านขวา แล้ววิ่งขึ้นมาตรงลำไส้ใหญ่ ส่วนขวา มาชนตรงตับแล้วก็พาดกลางท้องมาถึงตรงม้ามด้านซ้าย แล้วก็ลงมาตามลำตัว ด้านซ้าย และโค้งเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ส่วนโค้งซึ่งเป็นส่วนที่อุจจาระมาเก็บและลงไปใน อุ้งเชิงกราน เรียกลำไส้ใหญ่ส่วนนี้ว่า ลำไส้ตรง เมื่ออุจจาระที่มาเก็บไว้ที่ส่วนโค้งและ ตรงลำไส้ตรงสัมผัสตรงนี้อยู่นาน จะทำให้เกิดสารพิษจากอุจจาระหรือของเสียที่สร้าง ความระคายเคืองให้แก่เยื้อบุลำไส้ใหญ่ ก็จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดในประเทศไทยจะเกิดบริเวณลำไส้ตรง ที่เหลือทั้งหมด คือ 1 ใน 3 พบในลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไป

คุณมีความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ ?

– อุปนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป

– ปวดเข่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ

– ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน

– ก้อนอุจจาระที่เรียวเล็กลงกว่าปกติ

– มีอาการท้องผูกสลับท้องเดินบ่อยๆ

– มีอาการท้องอืด ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ

– เคยได้รับการตรวจพบว่ามีติ่งเนื้อในลำใส้

– มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

– มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว

มะเร็งตับ

“มะเร็งตับ พบได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป “

“มะเร็งตับ (HCC) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก เป็นสาเหตุลำดับที่สองของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชากรโลก ในประเทศไทยมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งตับค่อนข้างสูงเนื่องจากการปรากฏอาการในระยะต่อเนื่องจากภาวะตับแข็งระยะสุดท้าย สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจทางรังสีวิทยา และการตรวจระดับ AFP ในเลือก อย่างไรก็ตามการลดปัจจัยเสี่ยงและการเฝ้าระวังโรคเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคมะเร็งตับ”

“ทราบหรือไม่…ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการเข้ากับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งผู้ที่เป็นพาหะและผู้มีแนวโน้มโรคมะเร็งตับ”

 ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ

1. พบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2-3 เท่า

2. ภาวะตับแข็งจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น จากไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือแอลกอฮอล์

3. ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี

4. มีความเสี่ยงในเพศชายที่อายุมากกว่า 40ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50ปี

5. มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ

6. การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่

7. ได้รับสารอะฟลาท็อกซินในปริมานมาก (พบได้ในถั่วและพริกแห้ง)

 อาการของโรคมะเร็งตับ

– เบื่ออาหาร

– แน่นท้อง

– ปวดท้อง

– ท้องโตขึ้น

– ตัวเหลืองตาเหลือง

– น้ำหนักลด รับประทานอาหารได้น้อยลง

– คลำพบก้อนในท้อง

มะเร็งปอด

“การสูบบุหรี่ 10 มวน/วัน มีความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดสูงถึง 10 เท่า “

มะเร็งปอดพบได้มากในประเทศไทย สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และเป็นอันดับต้นๆ รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในผู้หญิง มีสาเหตุหลักมากจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ชายที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าในผู้หญิงถึง 20 เท่า มะเร็งปอดสามารถรักษาได้เมื่อตรวจพบในระยะแรกเริ่ม แต่ก็มักปรากฏอาการเมื่อเนื้อร้ายลุกลามเป็นวงกว้างในระยะที่ 3 – 4 โรคปอดมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่ คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด และ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) พบได้ร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก ถ้าพบในระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วย การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก หรือรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหรือใช้รังสีรักษา

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด

– ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน 20-30 ปี

– เพศชาย ทีมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

– ผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินหายใจ อาทิ ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดตีบตัน วัณโรค มีแผลติดเชื้อเรื้อรังในปอด

– กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด

 สัญญาณเตือนโรคมะเร็งปอด

– ไอเรื้อรัง

– ไอเป็นเลือด

– น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เบื่ออาหาร หน้าซีด อ่อนเพลีย

– เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ แต่อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ของปอดได้เช่นกัน จึงไม่ใช่อาการของมะเร็งปอดเสมอไป

 

มะเร็งปากมดลูกและเต้านม

มะเร็งปากมดลูก

“มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัส 99.7% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก จะตรวจพบไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เอชพีวี (Human Papillomavirus) “

ไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่มาของการเกิดมะเร็งปากมดลูก “มะเร็งปากมดลูก” ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัส” สาเหตุของโรคร้ายนี้ และได้ค้นพบว่า ประมาณ 99.7% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก จะตรวจพบไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เอชพีวี (Human Papillomavirus) ตัวเชื้อไวรัสเองนั้น ก็มีหลายสายพันธุ์เหมือนๆ กับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ซึ่งส่วนมากจะไม่เป็นอันตราย ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ และมักจะหายไปได้เองตามระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ในจำนวนนี้มีประมาณ 30 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นชนิดที่เกิดการติดเชื้อในบริเวณอวัยะเพศของหญิงและชายปัจจุบันพบว่า การติดเชื้อ HPV ของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 630 ล้านคน โดยการติดเชื้อ HPV จะพบบ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเยาว์ที่มีอายุระหว่าง 18 – 28 ปี หรือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ทำให้เรามักจะพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วง 35 – 50 ปี สืบเนื่องจากระยะเวลาของการติดเชื้อจน กระทั่งป่วยเป็นโรคนี้ซึ่งใช้เวลานานนับ 10 ปี

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

– การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

– การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน

– การคลอดบุตรจำนวนหลายคน

– การสูบบุหรี่

– การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์

– พันธุกรรม

– การขาดสารอาหารบางชนิด

 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ความสำเร็จจากการค้นพบสาเหตุและวิทยาการของการแพทย์สมัยใหม่ ได้นำมาสู่การพัฒนาเป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (6,11,16,18) ที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ในส่วนที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อ เอชพีวีสายพันธุ์ที่สำคัญ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US. FDA) ได้ให้การรับรองว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักเหล่านั้น ได้ 100% ถ้าหากได้รับวัคซีนก่อนที่จะมีการติดเชื้อ นอกจากนี้ วัคซีนดังกล่าวยังสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดที่ไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็ง แต่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศได้อีกด้วย

มะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอับดับ 2 ของผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งปากมดลูกพบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี “

มหันตภัยเงียบของผู้หญิงช่วงอายุ 45-50 ปี มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีสาเหตุโดยตรงจากปัจจัยทางพันธุกรรม มะเร็งเต้านมโดยทั่วไปสามารถตรวจคัดกรองอย่างแม่นยำได้ด้วยวิธีการตรวจเอ็กซเรย์ Mammogram ปีละ 1ครั้งในกลุ่มเสี่ยง หรือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองซึ่ง 80% ตรวจพบมะเร็งได้ด้วยตนเอง เพื่อวินิจฉัยการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดสงวนเต้านม หรือผ่าตัดนำเต้านมออกทั้งหมด ควบคู่ไปกับการฉายรังสี และเคมีบำบัด

 ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

– ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

– พันธุกรรมในครอบครัวที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม

– ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านม มีโอกาสกลับมาได้อีก

– ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุล่วงเลย 30 ปี

– พบการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

– ผู้หญิงที่มีเต้านมเต่งตึงกว่าอายุจริง

– ผู้ที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี

– ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

สัญญาณเตือน

– คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือรักแร้

– รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไปมีรอยบุ๋มแผล

– ผิวหนังเต้านมบางหรือหนาผิดปกติ

– หัวนมแดง มีเลือด น้ำหนองไหลออกมา

 

 มะเร็งพันธุกรรม

“การแพทย์ระบุแน่ชัดว่าโรคมะเร็งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมโดยตรง แนวโน้มผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอายุน้อยกว่า 30-40 ปี มีสาเหตุจากพันธุกรรม “

มะเร็งพันธุกรรม เป็นความผิดปกติของดีเอ็นเอและโครโมโซมที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมในครอบครัว เกิดขึ้นในญาติสายตรงใกล้ชิด บิดา มารดา พี่น้อง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ในระดับเซลล์สืบพันธุ์ (gem line cell) พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันในลักษณะพันธุ์เด่น (autosomal dominant inheritance) สมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งทางพันธุกรรมนี้ได้ถึงร้อยละ 50 มะเร็งส่วนใหญ่ที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรม ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งต่อมไร้ท่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ความเสี่ยงโรคมะเร็งพันธุกรรม

มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาทิ

มะเร็งลำใส้ใหญ่

ญาติสายตรง บิดา มารดา พี่น้อง มีประวัติดังนี้
– มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 45 ปี จำนวน 1 คน
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 60 ปี จำนวน 2 คน

สมาชิกในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง มีประวัติดังนี้
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 3 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร่วมกับ โรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งลำไส้เล็ก โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นจำนวนหลายคน

มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่

ญาติสายตรง มารดา พี่สาว น้องสาว มีประวัติดังนี้
– มีประวัติป่วยด้วยมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปี
– มีประวัติป่วยด้วยมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ภายในคนเดียวกันโดยไม่จำกัดอายุ
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่เกิดก็ได้ โดยไม่จำกัดอายุ

สมาชิกในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง มีประวัติดังนี้                                                          – มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม มากกว่า 2 คนขึ้นไป โดยหนึ่งในนั้น อายุน้อยกว่า 50 ปี
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม ร่วมกับโรคมะเร็งอื่นๆ มาหลายรุ่น เป็นจำนวนหลายคน โดยเฉพาะโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูก
– มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม ในเพศชายโดยไมจำกัดอายุ
– มีประวัติการตรวจพบยีนผิดปกติ เช่น BRCA1, BRCA2, TP53

การป้องกัน

การป้องกันโรคมะเร็งทางพันธุกรรมที่ดีที่สุดคือการเข้ารับการคัดกรองเพื่อค้นหาโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งจากพันธุกรรม ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการพัฒนาทางพันธุศาสตร์ มียารักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม ทดแทนความทุกข์ทรมานจากการรักษาด้วยวิธีฉายแสงหรือเคมีบำบัด

มะเร็งกระดูก

“80-90 % ของมะเร็งกระดูกเกิดจากการลุกลามของมะเร็งระยะสุดท้ายในอวัยวะอื่นๆ เต้านม ต่อมไทรอยด์ ปอด ไต และต่อมลูกหมาก คือ 5 โรคมะเร็งร้ายที่แพร่กระจายกลายเป็นมะเร็งกระดูก “

มะเร็งกระดูกพบได้น้อยมากเพียงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไป แต่มีความรุนแรงค่อนข้างมากเนื่องจาก 80-90 % มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เป็นผลให้เนื้อร้ายลุกลามมายังกระดูก มักเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งกระดูกจะส่งผลให้เกิดการทำลายกระดูกและข้อต่อ และเนื้อเยื่อรอบๆ กระดูก ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของกระดูกอย่างรวดเร็ว

ความเสี่ยงโรคมะเร็งกระดูก

– มีอาการปวดกระดูกรุนแรงและยาวนาน ไม่ตอบสนองต่อการรับประทานยาแก้ปวด

– มีอาการปวดทรมานอย่างต่อเนื่องแม้ขณะนอนหลับ หรืองดเว้นการออกกำลังกาย

– กระดูกเปราะหรือแตกหักได้ง่าย

– พบก้อนแข็ง ก้อนเนื้องอกบริเวณกระดูก

– ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก

 การวินิจฉัยและการรักษา

แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเครื่องมือเอ็กซเรย์ Bone Scan หรือการทำ MRI กระดูกร่วมด้วย บางรายแพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดูทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และวางแผนการรักษาต่อไป รักษาโดยวิธีการผ่าตัดเป็นหลัก การฉายแสง หรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ที่มา :- โรงพยาบาลพญาไท 1