เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพ ซึ่งสามารถให้รายละเอียดภาพที่คมชัด และสามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างดี การตรวจด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ

การตรวจ MRI ดีอย่างไร

1. การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถจำแนกคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันได้หลายแบบ และตรวจหาสิ่งผิดปกติในระยะแรกได้

2. ตรวจได้ทุกระนาบโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนท่าผู้ป่วย

3. สามารถตรวจเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ภายในกระดูกได้

4. ไม่มีรังสีเอ็กซ์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ทำให้สามารถตรวจในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือน – 9 เดือนได้หากมีข้อบ่งชี้การส่งตรวจที่เหมาะสม โดยพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

5. สามารถทำการตรวจได้แม้เป็นโรคไตวายโดยไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี

6. โอกาสแพ้สารที่ใช้ในการตรวจ (Gadolinium) น้อยมาก เมื่อเทียบกับสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

วัตถุประสงค์ของการตรวจ MRI

1. ตรวจหาความผิดปกติของสมอง ได้แก่ สมองขาดเลือด, เนื้องอก, สาเหตุการชัก, การอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง

2. ตรวจหาความผิดปกติของระบบกระดูกสันหลังและไขสันหลัง ได้แก่ หมอนรองกระดูกเคลื่อน, เนื้องอกไขสันหลัง, การติดเชื้อ, บาดเจ็บไขสันหลัง

3. ตรวจหาความผิดปกติของหลอดโลหิตในสมองและลำตัว โดยไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี

4. ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กระดูกส่วนต่างๆ รวมทั้งการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณข้อกระดูก เช่น ข้อเข่า

5. ตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ต่อมลูกหมาก และกระเพาะปัสสาวะ

6. ตรวจหาความผิดปกติต่างๆ บริเวณทรวงอก หัวใจ ช่องท้อง ท้องและเต้านมสตรี

7. การตรวจพิเศษอื่นทาง MRI อื่นๆ เช่น MR Perfusion หรือ MR spectroscopy

ข้อควรระวังในการตรวจ MRI

เนื่องจากเครื่องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะทั้งที่อยู่ร่างกาย หรือที่ติดมากับผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้

1. การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Cardiac pacemaker)

2. การผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)

3. ผู้ป่วยที่ต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ

4. การผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู (Ear implant)

5. มีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียมต่างๆ โลหะดามกระดูก กระสุนปืน เป็นต้น

6. การตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก

7. มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา

8. กลัวที่แคบ หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้

การตรวจ CT scan (Computerized Tomography) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เป็นการตรวจหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยลำแสงเอกซ์ โดยฉายลำแสงเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจในแนวตัดขวาง และให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ ภาพที่ได้จึงเป็นภาพตัดขวางส่วนที่ต้องการตรวจอย่างละเอียด โดยมีข้อบ่งชี้ของการตรวจดังนี้

1. ตรวจหาเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก

2. ตรวจหาการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ ใกล้เคียง

3. ตรวจดูการคั่งของเลือดในสมอง ช่องท้อง และอุ้งเชิงกราน

4. ตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น

5. ตรวจหาความผิดปกติของกระดูก และข้อต่อต่างๆ เช่น การหัก การหลุด และการอักเสบ เป็นต้น

ปัจจุบันการตรวจ CT scan แบ่งเป็น 4 ระบบ คือ

1. ระบบสมอง ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมอง ต่อมใต้สมอง ตา ต่อมน้ำลาย และคอ เป็นต้น ในการตรวจนี้ จะต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของโรคชัดเจนขึ้น

2. ระบบช่องท้องและทรวงอก ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน การตรวจระบบนี้ ผู้ป่วยต้องดื่มสารทึบรังสี/น้ำเปล่า และ/หรือ สวนสารทึบรังสี/น้ำเปล่า เข้าทางทวารหนัก เพื่อแยกลำไส้ออกจากเนื้อเยื่ออื่นๆ ของช่องท้อง และ ในผู้ป่วยหญิงอาจต้องใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดภายในช่องคลอด เพื่อแยกช่องคลอดออกจากเนื้อเยื่ออื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรังสีแพทย์ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของโรคชัดเจนขึ้น

3. ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อและกระดูกสันหลัง ซึ่งมักใช้ในการวินิจฉัยโรคเนื้องอกของกล้ามเนื้อ กระดูก หรือการอักเสบของข้อต่อต่างๆ และลักษณะทางกายวิภาคของกระดูกสันหลัง โดยสามารถให้การวินิจฉัยโรคกระดูกได้ดีกว่าการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป

4. ระบบหลอดเลือด ได้แก่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงไต และหลอดเลือดแดงที่ขา เป็นต้นในการตรวจนี้จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ

เอกซเรย์ธรรมดา(X-Ray) ต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) อย่างไร?

ความแตกต่างระหว่างการเอกซเรย์ธรรมดากับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือเอกซเรย์ธรรมดา จะให้ภาพการตรวจเป็นภาพ 2 มิติ คือกว้าง และยาว ไม่สามารถบอกความลึกได้ และจะให้ภาพเป็นภาพรวมของทั้งอวัยวะ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดของเอกซเรย์ธรรมดา เมื่อเปรียบเทียบกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการตรวจที่ซับซ้อนกว่าเอกซเรย์ธรรมดามาก ซึ่งจะให้ภาพเป็น 3 มิติ และยังซอยภาพอวัยวะออกเป็นแผ่นบางๆในภาพตัดขวางได้หลายสิบแผ่น จึงช่วยให้แพทย์อ่านความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆได้ละเอียดและแม่นยำกว่า

ประโยชน์ของ CT scan

ด้วยความสามารถในการสร้างภาพที่มีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อ กระดูก และระบบหลอดเลือดอยู่รวมกัน จึงทำให้ CT scan มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค และให้รายละเอียดแก่แพทย์ได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูก การได้รับอุบัติเหตุ และการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง

PET scan คืออะไร? PET-CT scan คืออะไร?

PET scan (Positron Emission Tomography) เป็นการถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมี (Metabolism imaging) ในเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย โดยการให้น้ำตาลกลูโคส ชนิดพิเศษ ที่มีกัมมันตรังสีในตัวเอง ที่เราเรียกว่า FDG (Fluorodeoxyglucose) ฉีดเข้าสู่ร่างกาย น้ำตาลชนิดมีกัมมันตรังสีนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่มีกิจกรรมการทำงาน หรือการแบ่งตัวมาก (เช่น เนื้อเยื่อมะเร็งหลายๆชนิด และเนื้อเยื่อสมอง) จะจับน้ำตาลนี้ไว้ในปริมาณมากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และเปล่งรังสีออกมาในปริมาณสูง จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องตรวจ PET scan ซึ่งเป็นเครื่องถ่ายภาพรังสี ถ่ายภาพออกมา ซึ่งภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นการมีอยู่หรือไม่ของเนื้อเยื่อมะเร็ง/โรคต่างๆ

แต่เนื่องจากภาพเนื้อเยื่อที่ตรวจได้จาก PET scan นี้ มีลักษณะลอยๆอยู่ ดูเหมือนหมอกควัน เนื่องจากขาดจุดอ้างอิงทางกายภาพ (Anatomical landmark) ทำให้แพทย์ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของรอยโรค/ตำแหน่งที่เกิดโรคได้อย่างชัดเจน จึงได้มีการนำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerized axial tomography) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่ให้ภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะในร่างกายได้ชัดเจน เข้ามารวมไว้เป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกันเรียกว่า “PET-CT Scan” และเครื่องนี้จะนำภาพทั้ง 2 ชุด คือจากทั้ง PET scan และ จาก CT scan มารวมไว้ในภาพเดียวกันได้ ทำให้แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งที่เกิดโรคได้แม่นยำกว่าการตรวจเพทสะแกนอย่างเดียวมาก

PET-CT scan มีประโยชน์อย่างไร?

สามารถตรวจพบดวามผิดปกติที่ไม่คาดคิด หรือตรวจไม่พบในการตรวจอื่นได้ เช่น จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือจากเอมอาร์ไอ เราใช้ประโยชน์การตรวจ PET-CT Scan นี้ใน 3 โรคหลักได้แก่ โรคมะเร็ง โรคทางสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ทั้งนี้กว่า 90% เป็นการตรวจด้านโรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง: เราสามารถใช้ PET-CT scan สำหรับ
-บอกความรุนแรงของโรค เพราะสามารถตรวจได้ทั้งร่างกายพร้อมกันภายในการตรวจเพียงครั้งเดียว จึงช่วยให้สามารถทราบได้ว่า มีโรคเกิดขึ้น/แพร่กระจายที่จุดใดของร่างกายบ้าง
-ใช้เป็นมาตรวัดการรักษา ในระหว่างการรักษา บางครั้งการประเมินการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ ต่อ ยารักษาตรงเป้า ที่ให้ มีความจำเป็นอย่างมาก เช่น การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง PET-CT scan จะช่วยตอบคำถามนี้ได้เร็วกว่าการตรวจอื่น ทำให้แพทย์สามารถปรับเปลี่ยนการรักษาหรือปรับเปลี่ยนยาได้ทันท่วงที

โรคทางสมอง: PET-CT scan มีประโยชน์ ดังนี้
สามารถใช้กำหนดตำแหน่งรอยโรคในสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ซึ่งเมื่อทราบตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคลมชักได ใช้วินิจฉัยสภาวะความจำเสื่อม และใช้วินิจฉัยโรคพาร์กินสัน

โรคของหัวใจและหลอดเลือด: PET-CT scan ใช้ช่วยวินิจฉัยสภาวะหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่อง PET-CT scan

1. ให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรค และระยะของโรคที่ไม่สามารถบอกได้จากการตรวจอื่นๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT), เครื่อง MRI

2. บอกระยะของโรคมะเร็งได้ถูกต้องแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละราย ลดค่าใช้จ่าย และภาวะแทรกซ้อน จากการรักษาที่ไม่จำเป็น

3. สามารถดูการกระจายของมะเร็งได้ทั้งตัวจากการตรวจครั้งเดียว

4. สามารถตรวจหามะเร็งที่เหลืออยู่และการกลับเป็นซ้ำหลังการรักษา

5.ให้การวินิจฉัยระยะของโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละราย

6. เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ

ที่มา :- โรงพยาบาลศิริราช, haamor.com, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์