ช็อกโกแลตซีสต์ ก็คือถุงน้ำของรังไข่แบบหนึ่ง ลักษณะของถุงน้ำชนิดนี้ภายในจะมีของเหลวที่คล้ายกับช็อกโกแลตเหลว ซึ่งความจริงก็คือถุงเลือดนั่นเอง คือจะมีเลือดอยู่ในถุงนั้น เมื่อเลือดหยุดไหล น้ำก็ถูกดูดซึมกลับทำให้เลือดในถุงเข้มข้นขึ้น และเมื่อเลือดค้างอยู่ในถุงน้ำนานๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตซีสต์เป็นยังไง?

สาเหตุของการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ ในทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ คือแทนที่เลือดนั้นจะออกมาทางช่องคลอดของผู้หญิง ตามปกติก็อาจจะมีเลือดประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับเข้าไป ผ่านทางหลอดมดลูก แล้วเข้าไปในช่องท้อง ไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขึ้น และเนื่องจากลักษณะเซลล์ของถุงน้ำเป็นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกอันหนึ่ง เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือน ถุงน้ำดังกล่าวก็จะมีเลือดออกในถุงด้วย ดังนั้น ในแต่ละเดือนที่ผ่านไปถุงน้ำก็จะมีเลือดออกเพิ่มขึ้นๆ นั่นหมายถึง ถุงน้ำก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

สาวคนไหนเสี่ยงจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์บ้าง?

ปัจจัยเสียงที่ทำให้เกิดช็อกโกแลตซีสคือผู้หญิงที่อยู่ในวัยประจำเดือน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆดังนี้

-ผู้ที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุน้อย

-ผู้ที่มีประจำเดือนรอบสั้น คือ มีมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง

-ผู้ที่ประจำเดือนออกมามาก หรือนานกว่า 7 วัน

-ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะทางมารดา พี่สาว น้องสาว หากเคยเป็นโรคนี้ จะมีเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 3-10 เท่า

-ผู้ที่มีความผิดปกติของทางออกประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเยื่อพรหมจารีปิด, รูปากมดลูกเล็กมาก

อาการของผู้ที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์

– มีอาการปวดท้องน้อยและปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดด้านหน้าตั้งแต่สะดือไปจนถึงอุ้งเชิงกราน และด้านหลังตั้งแต่เอวไปถึงก้นกบ

– ปวดประจำเดือนจนเป็นลม ท้องเสีย ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งเจ็บปวดผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์

การเป็นช็อกโกแลตซีสต์ส่งผลให้ปวดท้องรุนแรงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางคนเกิดการแตกของถุงน้ำ อาจทำให้เกิดการปวดท้องงรุนแรงเฉียบพลัน และต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก

การรักษาโรคช็อกแลตซีสต์

การใช้ยา : ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยจะให้ยาทาน หรือยาฉีดเพื่อลดขนาดของถุงน้ำ ซึ่งยาที่ใช้ก็มีทั้งกลุ่มที่มีฮอร์โมน และไม่มีฮอร์โมน แต่จะมีผลข้างเคียงของการใช้ยาก็คือ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

การผ่าตัด : ในกรณีที่ใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือถุงน้ำใหญ่มากจนเกิดอาการปวดรุนแรงและไปกดอวัยวะข้างเคียง ส่งผลไปถึงส่วนอื่น ๆ โดยอาจจะผ่าตัดเฉพาะตำแหน่งของโรค หรือสลายพังผืดออก ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องซึ่งการผ่าตัดโดยการส่องกล้องจะทำให้แผลเล็ก เจ็บปวดน้อย และฟื้นตัวไว

ข้อมูลโดย : เครือโรงพยาบาลพญาไท