ธรรมชาติของถุงน้ำดี, น้ำดี และ นิ่ว

ถุงน้ำดี : ทำหน้าที่เหมือนอ่างเก็บน้ำ ซึ่งทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น พร้อมใช้งานเวลาที่มีอาหารลงมาถึงทางเดินอาหารส่วนต้น ถุงน้ำดีจะบีบตัวให้น้ำดีออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร

น้ำดี : สร้างจากตับ ไหลลงมาตามท่อน้ำดี ร่วมทำหน้าที่จับกับไขมันในอาหาร เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

นิ่วในถุงน้ำดี : เกิดจากองค์ประกอบในน้ำดีตกตะกอน เวลาที่มีการดูดซึมน้ำออกไปจากน้ำดีภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี เป็นเหตุให้มีการตกผลึกของโคเลสเตอรอล และมีหินปูน (สารแคลเซียม) จับตัวร่วมด้วย

อาการ ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี 

อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการบางอย่าง ดังต่อไปนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่

– ท้องอืด แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก – ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราว

– ปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขาว

– ไข้สูงเฉียบพลัน ถ้ามีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน

– ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม

จะตรวจพบว่าเป็นนิ่วถุงน้ำดีได้อย่างไร? 

วิธีที่ดีที่สุด ที่จะวินิจฉัยว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี คือการตรวจอัลตร้าซาวด์

การรักษา

– การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ

– ไม่สามารถรักษาโดยใช้เครื่องสลายนิ่ว

– การรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่ว ใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิด และต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก

การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี

1. ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ปัจจุบันจะเลือกใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง

2. ผ่าตัดภายใต้กล้อง โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน สามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้สำเร็จจะน้อยลง

ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีภายใต้กล้อง

1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่า

2. อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเดิม อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 7-10 วัน

3. การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่า ถ้า ผ่าตัดแบบเดิม ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน

4. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่า และมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่  เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็กๆบนหน้าท้องเท่านั้น

จำเป็นต้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่???

1. ผู้ป่วยอายุน้อย แข็งแรงดี ไม่มีอาการ อาจรอสังเกตอาการดู กับแพทย์ ทุก 6 เดือน

2. ผู้ป่วยที่มีอาการ ควรผ่าตัดทุกราย

3. ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคตับ ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการถุงน้ำดีอักเสบ แล้วค่อยมารักษา จะมีความเสี่ยงในภาวะฉุกเฉินมากขึ้น แนะนำผ่าตัดออก ในขณะที่ยังไม่มีอาการ เนื่องจากปลอดภัยกว่า และโอกาสผ่าตัดผ่านกล้องสำเร็จสูงกว่า

4. ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ เช่น สูงอายุมากๆ มีโรคแทรกซ้อนที่คุมอาการไม่ได้มากมาย แพทย์อาจต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เป็นรายๆ

ที่มาข้อมูล :- เครือโรงพยาบาลพญาไท