การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปในผู้ที่มีอาการปกติ เพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ทั้งนี้เพื่อหวังผลในการรักษา เนื่องจากโรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบในระยะเริ่มแรก หรือยิ่งพบโรคได้ เร็วเพียงใด ชีวิตก็ปลอดภัยมากขึ้นเพียงนั้น

การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก มีหลักการดังนี้

1. การสอบถามประวัติโดยละเอียด

2. การตรวจร่างกายโดยละเอียด

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

1. การสอบถามประวัติโดยละเอียด 

มีความสำคัญเนื่องจาก อาจเป็นแนวทางเบื้องต้นที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ เช่น

1.1 ประวัติครอบครัว >>มะเร็งส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคที่สืบเนื่องโดยตรงเกี่ยวกับ พันธุกรรม แต่มีมะเร็งบางอวัยวะมี ความโน้มเอียงที่จะเกิดในพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เช่น มะเร็งตาบางชนิด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

1.2 ประวัติสิ่งแวดล้อม >>มีข้อสังเกตว่าสิ่งแวดล้อมบางอย่างเป็นเหตุส่งเสริม ให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสีเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจเป็นโรคมะเร็ง เม็ดเลือดขาวมากกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพอื่น

1.3 ประวัติส่วนตัว >>อุปนิสัยและพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละบุคคลก็อาจเป็น เหตุสนับสนุนให้เกิดโรคมะเร็ง บางอย่าง เช่น

– ผู้ที่สูบบุรี่มาก ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอด มากกว่า ผู้ที่ไม่สูบ บุหรี่
– ผู้ที่มีประวัติการร่วมเพศตั้งแต่อายุน้อย มีประวัติสำส่อนทางเพศ มีบุตรมากจะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยแต่งงาน
– ท้องอืด เบื่ออาหาร ผอมลงมาก
– เสียงแหบอยู่เรื่อย ๆ ไอเรื้อรัง
– หูด หรือปานที่โตขึ้นผิดปกติ
– การเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดไปจากปกติ

1.4 ประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บไข้ต่าง ๆ 

– เป็นตุ่ม ก้อน แผล ที่เต้านม ผิวหนัง ริมฝีปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้น
– ตกขาวมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
– เป็นแผลเรื้อรังไม่รู้จักหาย

2. การตรวจร่างกายโดยละเอียด 

ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ แต่ในทางปฏิบัติ แพทย์ไม่สามารถจะตรวจร่างกายได้ ทุกอวัยวะ ทุกระบบโดยครบถ้วน จึงมีหลักเกณฑ์ว่า ในการตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อตรวจ หามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้น ควรตรวจอวัยวะต่างๆ เท่าที่สามารถจะตรวจได้ ดังนี้

– ผิวหนัง และเนื้อเยื่อบางส่วน
– ศีรษะ และคอ
– ทรวงอก และเต้านม
– ท้อง
– อวัยวะเพศ
– ทวารหนัก และลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจอื่น ๆ 

3.1 การตรวจทางห้องปฏิบัติการ >>ช่วยในการตรวจค้นหา การวินิจฉัย การรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษา โรคมะเร็งด้วย ได้แก่

– การตรวจเม็ดเลือด
– การตรวจปัสสาวะ , อุจจาระ
– การตรวจเลือดทางชีวเคมี

3.2 การตรวจเอ๊กซเรย์ >>มีประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ซี่งมีวิธีการหลายอย่างเช่น
– การเอ๊กซเรย์ปอด : เป็นวิธีการพื้นฐานอย่างหนึ่ง ในการตรวจสุขภาพ
– การเอ๊กซเรย์ทางเดินอาหาร : ทำในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
– การตรวจเอ๊กซเรย์เต้านม : เป็นการตรวจลักษณะความผิดปกติที่เต้านม

3.3 การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ >>หลักสำคัญในการตรวจคือ ให้ผู้ป่วยกลืน ฉีดสารกัมมันตภาพรังสีบางชนิด สารดังกล่าว จะไปรวมที่อวัยวะบางส่วน แล้วถ่ายภาพตรวจการกระจายของสารกัมมันตภาพรังสีนั้น ๆ เช่น การตรวจเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ สมอง ตับ กระดูก เป็นต้น

3.4 การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษ >>เพื่อดูลักษณะเยื่อบุภายในของอวัยวะบางอย่าง เช่นหลอดลม หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น

3.5 การตรวจทางเซลล์วิทยา และพยาธิวิทยา >>การตรวจทางเซลล์วิทยา เป็นวิธีการตรวจหา มะเร็งระยะเริ่มแรกของอวัยวะต่างๆ เช่น

– การขูดเซลล์จากเยื่อบุอวัยวะบางอย่างให้หลุดออกมา เช่น ปากมดลูก , เยื่อบุช่องปาก เป็นต้น
– เก็บเซลล์จากแหล่งที่มีเซลล์หลุดมาขังอยู่ เช่น ในช่องคลอด ในเสมหะ

3.6 การตรวจเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา >>เป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยการตัด เนื้อเยื่อจากบริเวณที่สงสัย ส่งตรวจละเอียดโดยกล้องจุลทรรศน์ อนึ่ง โรคมะเร็งอาจเกิดกับอวัยวะต่างๆ กัน มะเร็งบางอวัยวะอาจตรวจวินิจฉัยได้ง่าย บางอวัยวะตรวจได้ยาก แต่มีข้อสังเกตว่า มะเร็งที่พบได้บ่อย ๆ ในประเทศของเรา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก เป็นโรคที่ตรวจวินิจฉัยได้ไม่ยาก ถ้าสนใจตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ประโยชน์ของการตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก 

การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์ เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้น การรักษา ได้ผลดีมาก และเป็นการป้องกัน มิให้ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งจะเป็น อันตรายแก่ชีวิตได้

ข้อมูล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ