ปัจจุบันนี้พบว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยได้สูงขึ้นอย่างมากมาย รวมทั้งยังพบอีกด้วยว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการตายที่สูงเป็นอันดับแรกในกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อ

สาเหตุที่อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งมีสูงขึ้นมากนั้นเป็นพหุปัจจัยที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งสภาวะแวดล้อม สุขนิสัยในการบริโภคและอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดีสาเหตุหนึ่งที่อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งสูงขึ้นนั้นมาจากการที่แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น  ซึ่งส่วนที่สำคัญในการวินิจฉัยที่รวดเร็วนั้น มาจากเทคโนโลยีทางรังสีวินิจฉัยที่มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยนอกจากจะสร้างประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งแล้วยังช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาการกระจายของโรคได้อย่างแม่นยำและชัดเจนขึ้น ทำให้แพทย์สามารถระบุระยะของโรคมะเร็งได้อย่างถูกต้องอันเป็นผลดีต่อการกำหนดแนวทางการรักษาของทีมผู้เชี่ยวชาญในการรักษามะเร็ง (Multidisciplinary Team : MDT) ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านรังสีวินิจฉัยที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งประกอบด้วย

1. เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม เป็นเครื่องเอ็กซเรย์ชนิดพิเศษ ทื่ใช้ตรวจเต้านมโดยเฉพาะ มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องแมมโมแกรมที่ใช้ฟิล์ม ผู้รับการตรวจจะได้รับรังสีต่ำ แต่ให้ผลถูกต้อง แม่นยำสูงถึง 90%  สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้อย่างชัดเจน สามารถหาความผิดปกติของเต้านม , ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก และพยาธิสภาพอื่นๆ  สามารถมองเห็นก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้  สามารถเห็นเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลง ยังอยู่เฉพาะที่เนื้อเยื่อภายในท่อน้ำนม ที่ยังไม่สามารถคลำพบได้ หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการแพทย์ว่า DCIS( ductal carcinoma in situ) ซึ่งส่วนใหญ่แสดงออกในรูปของการเกาะตัวเป็นกลุ่มของแคลเซียมขนาดจิ๋ว(clustered of microcalcifications)  เนื่องจากมะเร็งเต้านมพบบ่อยในเพศหญิงในประเทศไทยซึ่งพบว่ามีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี มีประมาณ 30% ที่พบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ซึ่งหากเข้ารับการผ่าตัดและรับการรักษาตามกระบวนการรักษาแล้วจะช่วยให้ผลการรักษาได้ผลดีขึ้น และสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

สาเหตุที่พบมะเร็งเต้านมในเพศหญิงเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องของวิถีชีวิตคน เมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯจะพบสูงกว่าที่อื่น แต่ถึงแม้ตัวเลขมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้น แต่ปัจจุบันการรักษาดี  ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำประมาณ 35% เท่านั้น เมื่อเทียบกับมะเร็งบางชนิด สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้แก่ผู้ที่มีประวัติญาติใกล้ชิด เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจแมมโมแกรมก่อนอายุ 40 ปี

2. เอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง MDCT Scan เป็นเครื่องที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพด้วยความเร็วและความละเอียดสูง สามารถสร้างภาพได้ถึง 64 ภาพในครั้งเดียวของรอบการหมุนหรือสแกน(360 องศา) ด้วยความเร็วเพียง 0.4 วินาที ทำให้ได้ภาพถึงกว่า 2,000 ภาพ ส่งผลให้การตรวจมีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะอวัยวะภายในที่มีการเคลื่อนไหว อย่างเช่น หัวใจ ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไปจะได้ภาพที่ไม่ชัดเจน แต่ด้วยเครื่องเครื่องดังกล่าวสามารถให้เกิดภาพที่ชัดเจน ทั้งแบบ2 มิติ และ 3 มิติ รวมถึงทุกส่วนต่างๆของร่างกาย อาทิ เส้นเลือด เนื้อเยื่อ กระดูก หัวใจ หรือแม้แต่ท่อลมในบริเวณปอด

ด้วยเหตุนี้เครื่องดังกล่าวจึงเอื้อประโยชน์ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยโรค และการวางแผนการรักษา  บอกระยะความรุนแรงของโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้แล้วยังสามารถตรวจหาความผิดปรกติของลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า Virtual Colonoscopy ช่วยให้สามารถตรวจหารอยโรคเล็กๆ ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ปัจจุบันพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป  จากสถิติมะเร็งในประเทศไทยที่จัดทำขึ้นมาล่าสุด พบว่า ถ้าเอามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในเพศชายและเพศหญิงมารวมกันจะพบมากกว่ามะเร็งปากมดลูก  นอกจากนี้แล้ว CT Scan ยังช่วยให้ค้นหามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกได้มากขึ้น ซึ่งในเอกซเรย์ปอดทั่วไปอาจปกติไม่สามารถมองเห็นได้ ทำให้การรักษาได้ผลดีมากขึ้น โอกาสหายขาดมีมากขึ้น

3. เครื่อง เอ็มอาร์ไอ (MRI) ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือ เครื่องสร้างภาพที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค โดยอาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของไฮโดรเจนอะตอมภายในร่างกายภายใต้สนาม แม่เหล็กไฟฟ้า สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆในร่างกายได้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค เช่น สมอง กระดูกสันหลัง อวัยวะในช่องท้อง อวัยวะในอุ้งเชิงกรานและเต้านมสตรี(MR mammography)  ตรวจท่อทางเดินน้ำดี และถุงน้ำดี (MRCP) ตรวจกระดูกสันหลัง ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่าง ๆ  ตรวจหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ (MRA ,MRV) การตรวจพิเศษ เช่น MR Spectroscopy ซึ่งใช้ในการตรวจหาสารชีวเคมีในเนื้อเยื่อเพื่อแยกเนื้องอกกับเนื้อปกติ  Function MRI เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ

การตรวจเต้านมด้วย ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า( MR mammography) ปัจจุบันแนะนำให้ทำ MRI ร่วมกับแมมโมแกรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีปริมาณสูงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุน้อย หรือตรวจเพี่อวิเคราะห์หารอยโรคที่อาจจะพบมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง และหรือ ตรวจติดตามหลังการผ่าตัดสงวนเต้าพื่อแยกการเกิดมะเร็งใหม่กับผังผืดจากการผ่าตัด

4. เครื่องช่วยตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ SPECT เป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งสามารถทำได้ในอวัยวะ หลักการคือ ฉีดสารบางอย่างที่เรียกว่า สารเภสัชรังสี ซึ่งสารเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น จับตัวที่กระดูกที่มีการอักเสบ หรือมีการเสื่อม  บางชนิดสามารถดูการทำงานของไตและตับ  บางชนิดสามารถเข้าไปในทางเดินอาหารบริเวณที่มีการตกเลือด บางชนิดสามารถจับตัวที่ต่อมไทรอยด์ได้เป็นพิเศษ จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องแสกนรังสีแกมมา แสกนรังสีที่เปล่งออกมาจากอวัยวะเหล่านั้น แล้วแสดงภาพออกเป็นภาพของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสามารถบอกถึงการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นได้ ในการจัดสารเภสัชรังสี พยาบาลประจำห้องเอ๊กซเรย์จะฉีดสารนี้ในจำนวนเพียงเล็กน้อยผ่านเส้นเลือดดำบริเวณแขน ซึ่ง สารดังกล่าวค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง หลังจากนั้นอาจต้องรอเพื่อให้มีการกระจายของสารระยะหนึ่ง แล้วผู้เข้ารับการตรวจจะเข้าไปนอนบนเตียงซึ่งมีหัวตรวจแสกนแกมมา เป็นระยะเวลาประมาณ 20 – 40 นาที แล้วแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภาพที่ปรากฎออกมา

5.เครื่องเพทสแกน (PET Scan : Positron Emission Tomography Scanner) เป็นเครื่องมือวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อตรวจดูระดับการทำงานเมตาบอลิสม์ของเซลล์ ดูการเสื่อมและตายของเซลล์ หรือการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วของเซลล์ เป็นต้น โดยใช้สารเภสัชรังสีที่ได้จากการผลิตของเครื่องไซโคลตรอน ฉีดให้แก่ผู้ป่วยและวัดความเข้มข้นของรังสีในรอยโรค โดยอาศัยหลักการที่ว่ารอยโรคที่เซลล์ที่มีระดับการทำงานสูง เช่น การแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้แก่เซลล์มะเร็ง เป็นต้น จะดูดจับสารเภสัชรังสีไว้มากกว่าเซลล์ปกติ ซึ่งเครื่องเพทสแกนจะทำหน้าที่ตรวจจับรังสีและถ่ายภาพไว้ เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยว่าเงาของก้อนที่เห็นในภาพถ่ายเอกซเรย์ธรรมดา นั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ รวมถึงใช้ประโยชน์ในการประเมินระยะการลุกลามของมะเร็ง การตอบสนองในการรักษามะเร็ง และการพยากรณ์โรคให้มีความแม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้เพทสแกนยังสามารถตรวจดูความผิดปกติของระดับการทำงานเซลล์ในระบบประสาทและหัวใจได้ด้วย  สำหรับเครื่องเพทซีที (Positron Emission Tomography/Computed Tomo graphy) เป็นนวัตกรรมทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยการผสานเครื่องเพท สแกนและเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เข้าไว้ในเครื่องเดียวกัน โดย PET จะให้ภาพที่แสดงถึงขบวนการทางชีววิทยาและเมตาบอลิสมที่เกิดขึ้น ในขณะที่ CT จะให้ข้อมูลทางกายวิภาคทำให้บอกได้ว่าพยาธิสภาพนั้นมีขนาด รูปร่าง และตำแหน่งอยู่ในร่างกายส่วนใด การรวมข้อมูลของภาพถ่ายทางกายวิภาคและเมตาบอลิสมเข้าด้วยกัน (co-registration) ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งของพยาธิสภาพได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งแยกได้ว่าตำแหน่งที่มีการจับสารเภสัชรังสีนั้นอยู่ในอวัยวะปกติ (physiologic uptake) หรือเป็นตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพ (pathological uptake) ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยระยะของโรคมะเร็งทั้ง staging และ restaging บอกถึงการพยากรณ์โรค และประเมินประสิทธิภาพของการรักษา วินิจฉัยการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง รวมทั้งประเมินการตอบสนองของโรคต่อการรักษา

นอกจากนี้แพทย์ทางรังสีรักษาสามารถนำภาพจาก PET/CT มาใช้ในการวางแผนการรักษาด้วยการฉายรังสี (radiation therapy treatment planning) ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งการฉายรังสี (contour maps) ให้ครอบคลุมรอยโรคได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีนั้น มีราคาแพง และมีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยไม่ครบร้อยละ 100  การตรวจ ด้วยเพทซีที จึงยังไม่สามารถนำมาใช้แทนที่การตรวจอื่น ๆ ได้ทั้งหมด เป็นเพียงการตรวจเสริมการตรวจอื่นที่ยังเป็นมาตรฐานอยู่ เช่น แมมโมแกรม, ซีทีธรรมดา หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการจำแนกระยะของมะเร็งอันจะส่งผลต่อการรักษาในลำดับต่อไป

6.อัลตร้าซาวด์ หรืออุลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจวินิจฉัยชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เป็นเครื่องมือตรวจอวัยวะภายในร่างกายโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งคนไม่สามารถได้ยิน ดังนั้นจึงไม่มีอันตรายจากรังสี คลื่นเสียงชนิดนี้นิยมใช้ตรวจอวัยวะที่มีน้ำหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกายเกือบทุกส่วน ยกเว้นอวัยวะที่มีลม (แก๊ส) หรือกระดูก (ของแข็ง) ซึ่งตรวจไม่ได้เนื่องจากการสะท้อนคลื่นเสียงความถี่สูงไม่สามารถทำให้เกิด ภาพได้ตามปกติ จึงไม่สามารถใช้ในการตรวจปอด ลำไส้  ทางเดินอาหาร และกระดูกต่างๆ ได้ดีนัก ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นกับทุกเครื่องอัลตราซาวด์ ข้อดีของอัลตราซาวด์ในทางเทคนิค คือ ปลอดภัยจากรังสี, มีความรวดเร็วในการตรวจ และสะดวก ไม่เจ็บปวดระหว่างการตรวจ และสามารถตรวจได้หลายระนาบ สามารถใช้เพื่อดูการกระจายของมะเร็งไปตับ รวมถึงขนาด จำนวน และตำแหน่งของก้อนด้วย ใช้ตรวจเต้านมเพื่อเสริมการตรวจแมมโมแกรม เพื่อดูรายละเอียดของก้อน  หาเส้นเลือดเกิดใหม่ที่มาเลี้ยงก้อน(neovascularization) หรือประเมินความยืดหยุ่นของก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียง (elastogram)

มะเร็งเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบทำให้อุบัติการณ์มีแนวโน้มสูงขึ้น การวินิจฉัยและการตรวจรังสีวินิจฉัยของเนื้องอกและมะเร็งเป็นหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่จะระบุโรคและระดับความรุนแรงของโรคเพื่อให้แพทย์สาขาต่างๆสามารถให้วิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม   แต่การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์มากกว่า เนื่องจากโรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบในระยะเริ่มแรก หรือยิ่งพบโรคได้ เร็วเพียงใด ชีวิตท่านก็ปลอดภัยมากขึ้นเพียงนั้น  มะเร็งสยบ เมื่อพบตั้งแต่แรก

พญ.สุรางค์  สู่พานิช
รังสีแพทย์
โรงพยาบาลพญาไท 1