ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการหรือมีความรู้สึกว่ามีเนื้อเยื่อส่วนเกินของเต้านมไปอยู่ที่รักแร้ มีอาการเป็นก้อนที่รักแร้ ก้อนนั้นอาจมีอาการเจ็บคัดตึงร่วมด้วยโดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน หรือรู้สึกมีก้อนโตขึ้นเวลาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาการแบบนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นโรคหรือเป็นอะไรที่ผิดปกติ แต่อาการนี้มักทำให้รู้สึกรำคาญ เกิดความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวของแขน คือมีปัญหาในการหุบแขน ในกรณีก้อนเนื้อเยื่อมีขนาดใหญ่มาขวางข้อพับบริเวณรักแร้ได้

าเหตุ

ย้อนไปในขณะที่มนุษย์ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา    เต้านมจะถือกำเนิดจากตุ่มใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกที่มีการเรียงตัวเป็นแนวตั้งแต่ขาหนีบไปจนถึงรักแร้ เรียกว่า milk line หรือ mammary ridge  ขนานกันไปทั้งสองข้าง ซึ่งต่อมาจะฝ่อไปหมดจนเหลือเพียงสองตุ่มที่บริเวณหน้าอก พัฒนาขึ้นมากลายเป็นเต้านม  ซึ่งจะมีเพียงสองเต้า ขวา กับซ้ายเท่านั้น  หากตุ่มนมที่ตำแหน่งรักแร้ไม่ฝ่อตัว หรือฝ่อตัวไม่หมด ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้พบว่ามีเนื้อเยื่อเต้านมเกิดที่บริเวณรักแร้ได้

ส่วนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ตุ่มนมเหล่านี้จะมีการเจริญเป็นเต้านมครบทุกตุ่ม ดังที่เราเห็นใน แมว สุนัข สุกร เป็นต้น (แต่ในมนุษย์ตุ่มนมจะฝ่อเหลือเพียงสองเต้าเท่านั้น )

อาการ

ส่วนมากเป็นเพียงความรู้สึกว่ามีก้อนเนื้อเยื่ออยู่ที่รักแร้  บางคนมีอาการปวดคัดตึงบริเวณก้อนเนื้อนี้ตามรอบเดือนได้เหมือนกัน เนื่องจากเนื้อเยื่อนี้มีลักษณะของเนื้อเยื่อเต้านมทุก ฉะนั้นโรคของเต้านมทุกโรคสามารถเกิดขึ้นที่เต้านมพิเศษ ตรงรักแร้นี้ได้ ตั้งแต่โรคธรรมดา ไปจนถึงเป็นมะเร็งได้

การตรวจวินิจฉัย

ผู้ที่มีอาการเป็นก้อนที่รักแร้ทุกคน ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนแน่นอน ว่าก้อนที่สงสัยดังกล่าวนี้เป็นอะไรกันแน่  การตรวจร่างกายก็สามารถบอกได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นอะไร แต่เพื่อความแน่นอนควรส่งตรวจ อัลตราซาวนด์ และหรือ แมมโมแกรมด้วยเพื่อตรวจดูให้ละเอียด

การรักษา  

ผู้ป่วยควรได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนจนเข้าใจดีถึงธรรมชาติของเนื้อเยื่อชนิดนี้  ในรายที่เป็นไม่มาก ก้อนไม่ใหญ่ ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนในผู้ที่มีอาการ เช่นปวด คัดมาก  ก้อนใหญ่มาก หุบแขนลำบาก หรือดูแล้วรู้สึกไม่พึงประสงค์ ต้องการเอาออก ก็สามารถรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมพิเศษที่งอกย้อยบริเวณรักแร้นี้ออกไปได้

                                 ลักษณะก้อนที่ขนาดใหญ่จนผู้ป่วยต้องการผ่าตัดออก

การผ่าตัดก็ไม่ได้ถือว่ายุ่งยากแต่อย่างใด แต่จะต้องกะเกณฑ์ หรือมีการวางแผนการผ่าตัดให้ดีก่อน เพื่อให้ผลการผ่าตัดออกมาดี ไม่เป็นการตัดก้อนออกมาน้อยไป หรือมากเกินไป จนเกิดผลเสียขึ้นแทนที่จะได้ผลดีเป็นที่น่าพึงพอใจกว่าเดิม

นพ. หะสัน มูหาหมัด