ซีสต์ที่เต้านม (breast cyst) หรือภาษาไทยเรียกว่า ถุงน้ำในเต้านม แม้ว่าคำๆนี้ ได้ยินคุ้นหูหรือพูดถึงกันบ่อยมาก แต่เชื่อว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจความหมายความสำคัญของคำๆนี้กันไม่ค่อยจะถูกต้องนัก คือ ยังสับสนกันอยู่ว่าจริงๆแล้ว ซีสต์ที่ว่านี้มันคืออะไร มันจะเป็นอันตรายหรือไม่ ทิ้งไว้จะเป็นมะเร็งหรือเปล่า หรือต้องผ่าซีสต์ออกหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งไม่แปลกที่ผู้ป่วยแต่ละคน มักจะถามแพทย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือไม่ว่าใครๆ ที่มาตรวจเต้านมก็ดูเหมือนไม่ค่อยรู้จักความหมายของคำๆนี้กันเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ตอบไปแล้วก็ดูเหมือนผู้ถามก็ยังไม่ค่อยเคลียร์กับคำตอบอยู่ดี
เริ่มต้นก่อนว่า คำว่าซีสต์นี้ ถูกใช้กันบ่อยมาก ทั้งๆที่คนพูดเองก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของมันอย่างถ่องแท้ ทำให้ใช้ปะปนกันไปหมด ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นในเต้านมก็จะเรียกว่า ซีสต์ ไว้ก่อนเสมอ เช่นซีสต์น้ำบ้าง ซีสต์เนื้อบ้าง บางครั้งเข้าใจผิดว่า ซีสต์ปล่อยไว้จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ ต้องผ่าออก
เรื่องนี้ต้องย้อนยุคไปเมื่ออดีต ที่มีการนำคำๆนี้มาใช้เรียกก้อนในเต้านม แต่ใช้กันอย่างไม่เคร่งครัดตามลักษณะที่ตรงกับความหมายที่แท้จริง ใช้ไปนานๆเข้า ก็เลยเรียกทุกอย่างที่เกิดกับเต้านมว่าเป็นซีสต์หมด
ทีนี้มาทำความเข้าใจกันใหม่ คำว่า “ซีสต์” หรือ Cyst ในภาษาการแพทย์ แปลตรงตัวภาษาไทยเลย แปลว่า “ถุงน้ำ” ถ้าพูดถึงถุงน้ำที่เกิดในเต้านม เราถือว่าเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเต้านมของผู้หญิงทั่วไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของต่อมผลิตน้ำนมขนาดเล็กๆภายในเต้านม คือต่อมหรือท่อน้ำนมพวกนี้จะมีการฝ่อรวมกันเป็นโพรง (space) จากโพรงเล็กๆ ขยายใหญ่ขึ้นมา แล้วสิ่งที่บรรจุอยู่ในโพรงก็คือ “น้ำ” ธรรมดาๆในร่างกายนี่แหละ แต่อาจมีสีหรือส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับแต่ละคน แต่ละสถานการณ์
ซีสต์ คือโพรงถุงน้ำที่อยู่ในเต้านม
ผ่าตัดออกมาก็จะเห็นเป็นถุงที่มีน้ำอยู่ภายใน
การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นเป็นช่องว่างหรือโพรง (space) พบได้ทั่วไปในเต้านม
ลักษณะน้ำที่เจาะดูดออกมา จากถุงน้ำเต้านม
ซีสต์หรือถุงน้ำในเต้านม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทอย่างกว้างๆ ก็คือ
1.ซีสต์ขนาดเล็ก (micro cyst) มักพบได้ทั่วไปในเนื้อเยื่อเต้านมทั้งเต้า คือหลับตาตัดเนื้อเยื่อตรงส่วนไหนของเต้านมของคนไหนก็ตาม มาส่องกล้องตรวจก็จะเจอได้เสมอๆ นั่นคือเป็นสิ่งปกติที่พบได้อยู่แล้ว ไม่แปลกอะไร ซีสต์พวกนี้มีขนาดเล็กมาก คลำไม่เจอ ตรวจอัตราซาวนด์อาจพบได้ โดยทั่วไปมีขนาดระดับ ไมครอน จนถึง 2-3 มิลลิเมตร
2.ซีสต์ขนาดใหญ่ (macro cyst) จะมีขนาดใหญ่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือคลำได้ พบได้เรื่อยๆในคนที่ตรวจเช็คเต้านม ก็ถือว่าเป็นสิ่งปกติ ไม่แปลกอะไร หากมีขนาดใหญ่จนคลำได้ (2-3 ซม.) ก็ใช้เข็มเจาะดูดน้ำที่ขังตัวอยู่ข้างในออกมา ก็จะหาย ไม่ต้องรักษาอะไรไปมากกว่านั้น
ความจริงเกี่ยวกับซีสต์
1. เป็นสิ่งปกติของเต้านม (normal change ตาม ANDI classification)
2.ไม่เกี่ยวกับการเป็นมะเร็งเต้านม คือทิ้งไว้ก็ไม่เป็นมะเร็งตามมา หรือไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในเนื้อเยื่อเต้านมส่วนอื่นๆ
3. การรักษา ถ้าเล็กๆ ไม่ต้องทำอะไร เพราะมันไม่ได้ผิดปกติอะไร ถ้าใหญ่ๆเช่นคลำเจอก็ใช้เข็ม เจาะน้ำออกทิ้งไป บางคนอาจต้องเจาะซ้ำอีก (หากมีน้ำสะสมขึ้นใหม่) ครั้งหรือสองครั้ง ก็หายสนิท
4.ไม่มีความจำเป็นต้องไปผ่าตัด เพราะมันไม่ได้ผิดปกติอะไร คือไม่รู้จะผ่าตัดเข้าไปเพื่อรักษาหรือแก้ไขอะไร
5. มีข้อยกเว้น ซีสต์บางชนิดอาจต้องผ่าออก จริงๆพวกนี้ไม่ใช่ซีสต์แท้ๆ แต่เกิดจากเนื้องอกบางชนิดที่สลายตัวเองกลายเป็นโพรง ดูคล้ายซีสต์ แต่มักเห็นก้อนเนื้อเป็นส่วนประกอบอยู่ภายใน ซึ่งเวลาทำอัลตราซาวนด์ ก็จะสามารถบอกได้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซีสต์
1. ทิ้งไว้จะเป็นมะเร็ง อันนี้ไม่เป็นความจริง บางครั้งอาจมีจุดมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้สังเกตุหรือไม่มีการตรวจแมมโมแกรมเพื่อเช็คดูให้ละเอียด ซึ่งต่อมาก็เป็นมะเร็งจากจุดที่ผิดปกตินั้น หรือพอเวลาผ่านไป คนเราย่อมมีโอกาสที่เซลล์เต้านมจะแบ่งตัวผิดปกติเกิดมะเร็งได้ในภายหลังตามความเสี่ยงของแต่ละคน บังเอิญว่าเคยเป็นซีสต์มาก่อน ก็เลยโทษซีสต์ว่าทำให้เป็นมะเร็ง
ประเด็นความเข้าใจผิดนื้ น่าจะมาจากในสมัยก่อนที่ไม่ค่อยมีการส่งตรวจแมมโมแกรมกันอย่างแพร่หลาย เหมือนสมัยนี้ พอมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นก็เลยเหมารวมว่าเป็นซีสต์หมดเลย เช่น ครั้งแรกเป็นก้อนที่เป็นถุงน้ำ ก็ไปผ่าตัดโดยที่ไม่ได้ส่งแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์ตรวจดูก่อนว่าเป็นอะไรกันแน่ ปรากฎว่าเป็นแค่ถุงน้ำ ครั้งต่อมาเป็นก้อนเกิดขึ้นที่ใกล้เคียงบริเวณเดิมคราวนี้ผ่าตัดอีก ผลชิ้นเนื้อออกมาว่าเป็นมะเร็งก็เลยเข้าใจเอาว่า ซีสต์อันที่เคยผ่าไว้ก่อนหน้านั้นเกิดการแปลงสภาพกลายเป็นมะเร็งขึ้นมา
2. เป็นซีสต์แล้วต้องผ่า อันนี้ไม่เป็นความจริง คือเวลาที่ผู้หญิงมีก้อนที่เต้านม ต้องไปตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์ดูก่อนเสมอ เพื่อดูว่าก้อนที่คลำได้เป็นยังไงกันแน่ เป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นแค่ถุงน้ำ หรือยังมีก้อนตำแหน่งอื่นๆที่ยังคลำไม่ได้อยู่อีกหรือเปล่า
เมื่อตรวจดูแล้วหากก้อนนั้นเป็นแค่ซีสต์หรือถุงน้ำ การรักษาก็เพียงใช้เข็มเจาะดูดน้ำออกมา (เหมือนกับการเจาะเลือด) ก็หายแล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ไม่ต้องการการผ่าตัดเพราะมันไม่ได้ผิดปกติอะไร ที่สำคัญไม่รู้จะผ่าตัดเข้าไปเพื่อรักษาอะไร
กรณีที่ผ่าตัดนั้นมักเป็นในกรณีที่ไม่ได้ตรวจให้ละเอียดก่อนด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวนด์ พอคลำเจอก้อน หรือคลำเจออะไรปุ๊บก็ไปผ่าเลย สุดท้ายพอมารู้ว่าเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ ก็แสดงว่าผ่าไปโดยไม่จำเป็น
การรักษา
หากเป็นซีสต์ขนาดใหญ่ พูดง่ายๆคือคลำได้ แนะนำให้เจาะดูดน้ำออกมา เพื่อเป็นการลดความกังวล ลดอาการปวด ป้องกันการอักเสบที่อาจเป็นผลแทรกซ้อนจากซีสต์ได้
การเจาะถุงน้ำเต้านม สามารถทำได้อย่างง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ใช้เข็มที่ใช้เจาะเลือด เจาะดูดเอาน้ำออก เจ็บน้อยกว่าเจาะเลือด
โดยทั่วไปน้ำจากซีสต์ ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจ ยกเว้นเจาะได้ออกมาเป็นสีเลือด ซึ่งจะต้องระวังว่ามีเนื้องอกปนอยู่ในซีสต์ด้วยหรือเปล่า
นพ. หะสัน มูหาหมัด