ก้อนเนื้องอกชนิดนี้เป็น ชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย หมายความว่าเมื่อผ่าตัดออกไปหมดแล้วก็หาย ไม่เกิดขึ้นอีกในตำแหน่งนั้น  เนื้องอกชนิดนี้พบได้บ่อยมากที่สุด ของบรรดาก้อนเนื้องอกของเต้านม

บางคนชอบเรียกก้อนเนื้องอกชนิดนี้ว่าซีสต์เนื้อ หรือเม็ดไขมันเล็กๆในเต้านม อันที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยถูกต้องนักตามศัพท์การแพทย์  จริงๆแล้วเราควรเรียกชื่อของเนื้องอกชนิดนี้ให้ถูกต้องตามศัพท์ทางการแพทย์น่าจะดีกว่าเพราะเป็นการป้องกัน ความสับสนและเพื่อความเป็นสากลในการสื่อสารอีกด้วย  ควรเรียกใหม่ว่า ก้อนเนื้อเต้านมชนิดธรรมดา หรือ ก้อนเนื้อไฟโบร-อดีโนมา     ฟังดูน่าจะดีกว่า และเป็นสากลมากกว่า 

                   ก้อนเนื้องอกไฟโบร-อดีโนมา มีลักษณะกลม เรียบ สีขาว กดดูจะไม่แข็งมาก

         ก้อนเนื้องอกไฟโบร-อดีโนมา หน้าตัดจะมีลักษณะ สีขาว สม่ำเสมอ ผิวเรียบ ขอบเรียบ

อาการส่วนใหญ่คือ คลำพบก้อนที่เต้านม ก้อนนี้ไม่มีอาการเจ็บ แต่บางคนอาจเจ็บเต้านมเป็นพิเศษในช่วงก่อนมีประจำเดือนจากก้อนนี้คัดตึงเพิ่มขึ้นได้  เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก็จะส่งตรวจแมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์ ก็พอจะบอกว่าเป็นเนื้องอกชนิดนี้ เนื่องจากลักษณะจะแตกต่างจากก้อนเนื้อมะเร็งอย่างชัดเจน จากนั้นแพทย์ก็จะยืนยันอีกครั้งโดยการเจาะดูดเอาเซลล์ที่ก้อนไปตรวจ ซึ่งเมื่อผลการตรวจยืนยัน ก็สามารถวินิจฉัยได้แน่นอน 99% ว่าก้อนดังกล่าวนั้นเป็นเนื้องอกชนิดนี้จริง  ส่วนการรักษาว่าจะผ่าตัดออก หรือจะสังเกตุอาการไปก่อน ก็ต้องดูที่องค์ประกอบหรือเหตุผลอื่นๆ เป็นรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละคนไป

ทางการแพทย์ถือว่า เนื้องอกชนิดนี้ถือว่าพบได้อยู่แล้วตามธรรมชาติของเต้านมผู้หญิง คือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเนื้อเยื่อเต้านมอย่างปกติอีกชนิดหนึ่ง  โดยมีหลักคิดว่าการพบเนื้องอกขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถคลำได้ไปจนถึงขนาดไม่เกิน 2 ซม. ในเต้านมของผู้หญิง ในจำนวนก้อนที่ไม่มากนัก (ไม่มีจำนวนที่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่ถือเอาไม่เกิน 5 ก้อน ) ถือว่าเป็นสิ่งปกติที่พบได้ตามการเปลี่ยนแปลงแบบธรรมดาของเต้านม ( การเปลี่ยนแปลงแบบปกติ ตาม ANDI classification)

กลุ่มที่จัดว่าไม่ปกติ (แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค) คือคนที่มีก้อนเนื้องอกนี้ขนาดใหญ่และหรือมีจำนวนก้อนที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เช่นมีก้อนขนาดใหญ่ เกิน 3 ซม.ถึง 5 ซม. หรือมีเป็นสิบๆ ก้อน ซึ่งพวกนี้มักต้องผ่าเอาก้อนออก

ดังนั้นเวลาที่หลายคนไปตรวจเช็คมะเร็งเต้านม แล้วพบก้อนเนื้องอกขนาดเล็กๆในเต้านม บางคนมักได้รับการแจ้งผลการตรวจจากคุณหมอว่า เจอก้อนไขมันบ้าง เจอก้อนเท่าเม็ดถั่วเขียวบ้าง เจอเป็นซีสต์เนื้อบ้าง ส่วนใหญ่ก็หมายถึงก้อนเนื้อ fibroadenoma นั่นแหละ แต่อย่าลืมนะครับ มันเป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเท่านั้นเพราะเป็นการอาศัยข้อมูลจากการทำแมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์ โดยไม่ได้เอาชิ้นเนื้อมาตรวจพิสูจน์ นั่นคือยังมีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน (โอกาสที่เป็นก้อนมะเร็งขนาดเล็กซึ่งดูคล้ายคลึงกับเนื้องอกไฟโบร-อดีโนมา ในช่วงแรกอยู่ในช่วง 2-3 %) ดังนั้นเพื่อความแน่นอนก็ต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า เพราะหากเป็นก้อนมะเร็งมันจะเปลี่ยนแปลงให้เห็นเมื่อเวลาผ่านไป( 60% เปลี่ยนภายใน 6 เดือน ,  70- 80%  เปลี่ยนภายใน 1 ปี และ  เกือบ 100% เปลี่ยนภายใน  2 ปี)

บทสรุป

1.เนื้องอกชนิดนี้ไม่ถือว่าอันตราย ไม่ใช่เนื้อร้าย พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิงอายุน้อย ช่วง 20 -40 ปี

2. สามารถพบได้ในคนปกติ ทั่วๆไป    โดยเฉพาะผู้ที่มาตรวจแมมโมแกรมเช็คเต้านม

3. ไม่มีการกลายพันธุ์จากเนื้องอกชนิดนี้กลายเป็นมะเร็ง

4. แนะนำให้ผ่าตัดเอาก้อนออก ในผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่ เช่น  ก้อนที่สามารถคลำได้ หรือ ก้อนที่มีขนาดมากกว่า 2 ซม.ขึ้นไป หรือมีการโตขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือมีลักษณะพิเศษที่ต้องผ่าตัดพิสูจน์เนื้อเยื่ออย่างละเอียด

5. ในผู้ที่คลำเจอก้อน ต้องมีการเจาะตรวจเซลล์เพื่อยืนยันก่อนเสมอ ไม่ว่าจะตัดสินใจผ่าหรือไม่ก็ตาม เพราะมีบางครั้งไม่สามารถแยกแยะจากก้อนมะเร็งได้จากการตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว

6. ถึงแม้มีการตรวจเซลล์ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ก้อนมะเร็ง  ก็ต้องระวังว่าอาจเป็นก้อนเนื้องอกชนิดกึ่งมะเร็ง (phyllodes tumor) ได้ เพราะลักษณะทุกอย่างจะเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่หรือก้อนโตเร็ว

 นพ. หะสัน มูหาหมัด