กลุ่มอาการที่มีของเหลวไหลออกจากทางหัวนม  พบได้ไม่ค่อยบ่อยนัก แต่ก็พบได้อยู่เสมอๆ  เป็นอาการหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวลค่อนข้างสูงกลัวว่าจะเป็นมะเร็ง หรือมีอันตรายอะไรหรือเปล่า  การตรวจรักษาอาการประเภทนี้ต้องอาศัยความเข้าใจสาเหตุของโรคและมีทักษะในการตรวจสืบค้นที่ดี และสามารถอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้เป็นอย่างดี

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยเรื่องมีของเหลวออกทางหัวนม มักเป็นพวกน้ำใสๆ หรือขาว ขุ่นคล้ายน้ำนม มักเกิดจากการเอามือไปบีบเค้นหัวนมหรือเต้านม จึงจะสังเกตุว่ามีอะไรไหลออกมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็มักเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายอะไร คือไม่ต้องทำอะไร เป็นลักษณะปกติที่พบเจอได้อยู่แล้ว  หลังจากตรวจให้ละเอียดและอธิบายให้ความมั่นใจ ผู้ป่วยก็จะคลายความวิตกกังวล ออกจากห้องตรวจไปด้วยความสบายใจ

ส่วนการพิจารณาว่าอาการของเหลวที่ไหลออกทางหัวนมกรณีไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประการ เช่น ลักษณะของของเหลว สี ปริมาณ เป็นการออกมาเอง หรือเอามือไปบีบถึงจะไหลออกมา  ออกมาข้างเดียวหรือสองข้าง  ออกมาหย่อมเดียวหรือหลายๆหย่อม เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาลงไป

สำหรับกรณีที่ถือว่าผิดปกติ และจะต้องให้การรักษา(ซึ่งมักเป็นการผ่าตัด) ก็คือ กรณีที่ สิ่งที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นเลือด หรือเป็นของเหลวสีอะไรก็ตามที่ไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว  คือไม่ได้เกิดจากการเอามือไปบีบเค้น หัวนม  สามารถสังเกตุได้ง่ายมากในกรณีที่น้ำหรือของเหลวไหลออกมาเอง จะสังเกตุเห็นขณะถอดเสื้อชั้นในหรือยกทรง แล้วจะเห็นรอยเปื้อนเป็นคราบติดอยู่ด้านในของยกทรงตรงที่สัมผัสกับหัวนม หรือ บางคนตื่นเช้ามาก็อาจมีรอยเปื้อนติดอยู่ที่เสื้อนอน เป็นต้น กรณีนี้จะถือว่ามีความสำคัญ ที่ต้องตรวจให้ละเอียดต่อไป

ข้อสังเกตุ

กรณีต่อไปนี้มักไม่มีความสำคัญ

1. ของเหลวที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นสีๆ เช่น เขียว เหลือง ขาวข้น

2. ไม่ได้ออกมาเอง คือต้องเอาไปบีบเค้นบริเวณหัวนม ถึงจะออกมา

3. ออกจากเต้านมสองข้าง หรือหลายๆหย่อมในแต่ละข้าง

กรณีต่อไปนี้มักมีความสำคัญ

1. ของเหลวออกมาเป็นเลือด หรือลักษณะคล้ายเลือด

2. หากเป็นของเหลวที่ไม่มีสี เช่นออกมาเป็นสีใส ต้องพิสูจน์ด้วยการตรวจทางเคมีก่อนว่ามีเม็ดเลือดเป็นส่วนประกอบอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นเลือด

3. ไหลออกมาเอง โดยไม่ได้เอามือไปบีบ

4. ออกมาเป็นน้ำนม (มักเป็นสองข้าง) อาจมีอาการปวดหัว ตามัว มองไม่ชัดร่วมด้วย

5. มีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่นเป็นก้อนร่วมด้วย หัวนมยุบตัว ผิวหนังผิดปกติเป็นรอยบวม หรือบุ๋ม เป็นรอยยุบ เป็นต้น

การตรวจที่จำเป็น

1. แมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์   เป็นการตรวจเช็คสภาพเต้านมโดยรวมก่อนว่ามีอะไรผิดปกติอยู่หรือไม่ และอัลตราซาวนด์ก็จะตรวจดูรายละเอียดของท่อน้ำนมบริเวณนั้นได้ด้วย

2. แพทย์จะกดดูตามแนวท่อน้ำนมรอบๆ หัวนม  เพื่อหาตำแหน่งที่อาจพบจุดที่เป็นความผิดปกติที่ผลิตของเหลว หากกดบริเวณนั้นแล้วมีของเหลวไหลออกมาก็แสดงว่าจะต้องมีอะไรที่เป็นแหล่งสร้างของเหลวนั้นอยู่บริเวณนั้น

รูปแสดงการกดหาตำแหน่งที่เป็นความผิดปกติในท่อน้ำนม กดบีบไล่ดูว่าตำแหน่งที่ของเหลวออกมาอยู่ส่วนไหนของท่อน้ำนม

3. การตรวจทางเคมี    ใช้ในกรณีที่ของเหลวออกมาเป็นสีใดๆ ที่ไม่ใช่ลักษณะเลือด เพื่อเป็นการพิสูจน์ดูว่ามีเลือดเป็นส่วนประกอบหรือไม่ ถ้ามีก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มเลือดออกทางหัวนม  ถ้าไม่มีก็น่าจะปลอดภัยกว่า

              แถบตรวจวัดทางเคมี  สำหรับตรวจหาว่ามีเลือดปนอยู่ในของเหลวที่ออกมาหรือไม่

 

การตรวจส่วนใหญ่มักทำเพียงแค่นี้ เพราะ ก็จะสามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้ เพราะเมื่อทราบว่า เต้านมไม่มีความผิดปกติอื่นใดร่วมด้วย เช่นก้อนเนื้องอก หรือ มะเร็ง     เราก็พอจะสรุปสาเหตุของการที่มีเลือดออกทางหัวนมส่วนใหญ่ (ราว 90%) ว่าเป็นจาก เนื้องอกท่อน้ำนมขนาดเล็ก ( intraductal papilloma) ที่อยู่ข้างๆหัวนม นั่นเอง ซึ่งเนื้องอกกลุ่มนี้ไม่ใช่เนื้อร้าย และไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง คือผ่าตัดออกแล้วก็หาย

เครื่องมือชี้ก้อนเนื้องอกในท่อน้ำนม ชนิด intraductal papilloma ที่เป็นสาเหตุของเลือดออกทางหัวนม

               ก้อนเนื้องอกชนิด(intraductal papilloma) ที่อยู่ในท่อน้ำนม

 

การตรวจพิเศษที่อาจทำเพิ่มเติมในผู้ป่วยบางคนเพื่อให้ทราบรายละเอียดของสาเหตุมากขึ้น  แต่ก็ไม่ค่อยจำเป็นนัก เพราะไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการรักษาแต่อย่างใด

1. การส่องกล้องตรวจท่อน้ำนม โดยใช้กล้อง microfiber optic ( ductoscopy)

2. การฉีดสารทึบแสง ตรวจภายในท่อน้ำนม ( ductogram)

                            ลูกศรชี้ตำแหน่งของเนื้องอกภายในท่อน้ำนม

 

การรักษา

1. กรณีของเหลวที่ออกมาไม่ใช่เลือด และไม่มีความผิดปกติอื่นๆร่วม ก็แนะนำให้ติดตามดูอาการไปก่อน เพราะว่าส่วนใหญ่จะหายได้เอง (self limited)

2. กรณีออกมาเป็นน้ำนม อาจต้องตรวจระดับ ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง prolactin

3. กรณีเป็นเลือด ก็จะผ่าตัด เอาท่อน้ำนมที่ผิดปกติออก (microduchectomy)

นพ. หะสัน มูหาหมัด