ก้อนเนื้องอกชนิดนี้พบได้ไม่บ่อยนัก  แต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าก้อนเนื้อมะเร็ง   ปัจจุบันนี้พบว่าเนื้องอกชนิดนี้มีความรุนแรงได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่รุนแรงอะไรเลย (benign phyllodes tumor) คือเทียบเท่าเนื้องอกไม่ร้ายแรง คือโตไม่เร็ว เซลล์แบ่งตัวอยู่ในระดับต่ำ ไปจนถึงพวกที่รุนแรงมาก (malignant phyllodes tumor) เซลล์แบ่งตัวในอัตราสูง ขยายขนาดลุกลามกัดกินเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบได้ แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกชนิดนี้ไม่ใช่มะเร็ง (cancer)  จึงไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ  พูดง่ายๆก็คือโตอยู่กับที่ มีการกัดกินเนื้อเยื่อไปโดยรอบ ทำให้สร้างความยุ่งยากในการรักษาอยู่เหมือนกัน หากเนื้องอกทำลายผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อหน้าอกเป็นบริเวณกว้าง ต้องใช้วิธีการผ่าตัดขั้นสูงในการแก้ไข ซึ่งบางครั้งรักษายากกว่ามะเร็งเต้านมเสียอีก ปัญหาอีกอย่างของเนื้องอกชนิดนี้คือ สามารถกลับเป็นซ้ำที่เต้านมได้สูง ซึ่งเกิดได้ในกรณีที่ผ่าตัดออกไปได้ไม่หมด เช่นกรณีผ่าแล้วก้อนแตกเละเป็นชิ้นๆ หรือผ่าตัดโดยมีปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมปกติห่อหุ้มน้อยเกินไป ทำให้ขอบรอยตัดยังมีเซลล์ตกค้างอยู่เป็นต้น                      ก้อนเนื้อชนิดกึ่งมะเร็ง โตเฉพาะที่ไปเรื่อยๆ จนทำลายผิวหนังหรือกล้ามเนื้อได้

ภาพหลังผ่าตัด รักษาโดยต้องตัดเนื้อเยื่อรวมทั้งผิวหนังออกเป็นบริเวณกว้าง แล้วใช้กล้ามเนื้อและผิวหนังหน้าท้องมาเสริมสร้างเต้านมใหม่

ข้อสังเกตุ

1. เนื้องอกชนิดนี้ในขนาดที่ยังเล็กอยู่ มีลักษณะทุกอย่างเหมือนเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้องอกไฟโบร มากจนไม่สามารถแยกแยะกันได้ โดยการตรวจแมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์

2. การแยกสามารถทำได้โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อก่อนผ่าตัด (core biopsy) ซึ่งจำเป็นต้องทำในผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่มากๆ เช่น เกิน 5 ซม.(การตรวจโดยการตรวจเซลล์อาจแยกออกจากกันยาก)

3. การผ่าตัดก้อนอะไรก็ตามที่เต้านมออก ควรมีเนื้อเยื่อปกติห่อหุ้มก้อนไว้โดยรอบเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนแตกกระจายขณะผ่าตัด มิฉะนั้นแล้วอาจมีเซลล์ตกค้างเป็นสาเหตุให้เกิดก้อนซ้ำขึ้นมาอีกได้ ในอนาคต

 นพ. หะสัน มูหาหมัด