เต้านมเป็นอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อได้ยากมาก เราจึงไม่ค่อยพบเห็นโรคติดเชื้อที่เต้านมกันบ่อยนัก ส่วนใหญ่การติดเชื้อที่เต้านม ที่พบมักเกิดในคุณแม่หลังคลอด ขณะที่ให้นมบุตรกันเป็นส่วนใหญ่  ส่วนที่เหลือก็จะพบในผู้หญิงปกติ (ที่ไม่ได้ให้นมบุตร) ได้บ้างประปราย

เราจึงมักแบ่งประเภทของการติดเชื้อที่เต้านมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. การติดเชื้อเต้านมในคุณแม่ที่ให้นมบุตร

คือเต้านมคุณแม่ที่ให้นมลูกอยู่จะคั่งไปด้วยน้ำนม ซึ่งมีสารอาหารมากมาย ย่อมเป็นอาหารอย่างดีให้กับแบคทีเรียด้วย เมื่อเกิดบาดแผลที่หัวนม เนื่องจากการกัดดูดจากเหงือกของทารก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้  อาการจะเริ่มจากปวด บวม แดง ตึงคัด ของเต้านมขึ้นมาและมักมีไข้ร่วมด้วย อาการเด่นๆ คือ จะปวดมาก สัมผัสโดนไม่ได้ แล้วต่อมาก็จะเกิด ฝี หนอง ตามมา

การรักษา ในระยะแรกถ้ายังไม่เป็นหนองก็จะต้องนอนโรงพยาบาล ให้ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด ถ้าเพิ่งเริ่มเป็นจริงๆ การรักษาด้วยการฉีดยาอย่างเดียวก็มักหายดี โดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด กรณีเป็นหนองแล้ว (บางครั้งต้องพิสูจน์ด้วย อัลตราซาวนด์) การรักษาคือ การผ่าตัดระบายหนองฝีออก กรณีนี้ต้องให้ยาสลบ ผ่าตัดระบายหนองออกให้หมด และตามด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ  การทำแผลต่อเนื่อง

การใช้เข็มเจาะดูดหนอง มักไม่ได้ผลเพราะหนองจะเหนียว และกระจายตัวหลายทิศทาง (multiloculated)  ทำให้เป็นผลเสียมากกว่าเพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้การติดเชื้อลุกลามมากขึ้นไปอีก

2. การติดเชื้อในผู้หญิงทั่วๆไป (ไม่เกี่ยวกับการให้นมบุตร)

การติดเชื้อของท่อน้ำนม ( periductal mastitis)  พบได้ไม่ค่อยบ่อยนัก มีอาการปวด บวม แดง เป็นก้อนที่บริเวณใกล้ โดยรอบหัวนม/ลานนม  เป็นหนึ่งในอาการของผู้ที่มีอาการปวดเต้านม เวลามาผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดเต้านม แพทย์ก็ต้องตรวจดูเสมอว่ามีภาวะนี้ร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นหนอง รักษายุ่งยากมากเข้าไปอีก

การรักษา ส่วนมากมักเป็นการติดเชื้อหลายประเภทปะปนกัน (mixed organisms)  ถ้าเป็นระยะแรกก็ให้ยาฆ่าเชื้อชนิดออกฤทธิ์กว้างรับประทาน  ถ้าเป็นมากคือเป็นหนองแล้ว จะรักษายุ่งยากกว่า คือต้องมีการผ่าตัดระบายหนอง และอาจเป็นซ้ำๆได้อีก สุดท้ายต้องผ่าตัดกำจัดเอาท่อน้ำนมที่มีปัญหาและเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบๆ บริเวณนั้นออกไป จึงจะได้ผล

การติดเชื้ออื่นๆ   เช่นวัณโรค  เชื้อแปลกๆ      มีเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติพบได้น้อยมาก

นพ. หะสัน มูหาหมัด