การผ่าตัดใดๆ ก็ตามที่บริเวณเต้านม ไม่ว่าจะผ่าตัดก้อนเนื้องอกธรรมดา ไปจนถึงการผ่าตัดโรคมะเร็งเต้านมตามวิธีต่างๆ นอกจากแพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องผ่าตัดโรคให้หาย หรือควบคุมโรคให้ได้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลด้านความงาม (Aesthetic Outcome) ของการผ่าตัดด้วย  โดยเฉพาะแผลจากผ่าตัดถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดวางตำแหน่งแผล ขนาด ความยาวของแผล รูปร่างของแผล  ซึ่งหากแพทย์ที่ทำการผ่าตัดไม่ได้มีการคำนึงถึงเรื่องแผลแล้ว  จะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการผ่าตัดนั้นๆ ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ อันได้แก่

– เกิดรอยแผลเป็นที่ไม่สมควรเกิด

– เกิดภาวะแผลตึง หดรั้ง

– เกิดความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวหรือการแต่งกายใส่เสื้อผ้า

– เกิดเนื้อเยื่อย่นเข้าหากัน

– เกิดรอยแผลเป็นบริเวณที่ไม่พึงพอใจ ทุกครั้งที่มองดู

ผลอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว เกิดได้จากหลายๆปัจจัย ได้แก่
1. ปัจจัยด้านผู้ป่วย ที่มีคุณภาพของเนื้อเยื่อผิวหนังที่เกิดแผลเป็นหรือเกิดเนื้อเยื่อหดรั้งได้ง่าย
2. ปัจจัยด้านการรักษา ที่ขาดความคำนึงถึงรายละเอียดและความรอบคอบในการวางแผนการผ่าตัด

ผลอันไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยๆ และควรต้องป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด สามารถแบ่งออกได้ตามประเภทของการผ่าตัด ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 2 หัวข้อ ตามประเภทของโรคที่ผ่าตัด ได้แก่

1. กรณีผ่าตัดเนื้องอกธรรมดา

1. แผลเป็นที่แลดูน่าเกลียด เกิดการหดรั้งของเนื้อเยื่อโดยรอบ

2. แผลเป็นอยู่ในตำแหน่งที่สามารถหลบเลี่ยงได้  โดยการวางแผนก่อนผ่าตัดให้ดี มีการกำหนดจัดวางตำแหน่งแผลให้อยู่ในจุดซ่อนเร้น หรือใช้วิธีผ่าตัดแบบซ่อนแผล

การผ่าตัดที่ไม่ได้คำนึงเรื่องการจัดวางตำแหน่งแผลเป็นที่ดี ทำให้หลังผ่าตัด เกิดแผลเป็นที่ดูไม่สวยงาม

                                                        การผ่าตัดแบบซ่อนแผล

                                      แผลเป็นหลังผ่าตัดน้อยมาก จนแทบบมองไม่เห็น

.2. กรณีผ่าตัดมะเร็งเต้านม

1. ขอบแผลดำคล้ำเนื่องจากขาดเลือดมาเลี้ยง  แก้ไขโดยการกำหนดแนวแผลให้หลีกเลี่ยงการทำลายหลอดเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังมากที่สุด   การผ่าตัดเลาะผิวหนังไม่ให้บางเกินไปตลอดจนการกำหนดปริมาณผิวหนังที่ตัดออกให้เหมาะสมไม่ให้แผลตึงหรือหย่อนจนเกินไป

.2. มีเนื้อเยื่อเหลือ หรือรอยพับย่นของผิวหนังเกิดขึ้นที่ด้านข้างลำตัว ทำให้เป็นปัญหาเวลาใส่เสื้อยกทรง เนื่องจากเนื้อส่วนนั้นจะค้ำแขนอยู่ตลอด ในผู้ป่วยบางคนจะเกิดการเสียดสี จนแผลถลอกเป็นรอยแดงได้

แก้ไขโดยพิจารณาใช้แผลเฉียง (Oblique Incision) ในผู้ป่วยรูปร่างท้วมหรือมีไขมันข้างลำตัวมาก โดยแผลแบบเฉียงนี้เป็นแนวแผลที่แนะนำให้ใช้ในการผ่าตัดเต้านมออกหมดทั้งเต้าในผู้ป่วยส่วนใหญ่  โดยมีข้อดีคือ

1. เป็นแนวแผลที่ Cut Blood Supply น้อยที่สุด ส่งผลให้ลดการเกิดขอบแผลดำ ( Skin Edge Necrosis) ได้ดี

2. สามารถเอาเนื้อเยื่อไขมันส่วนเกินที่อยู่ข้างลำตัวออกไปได้ดีกว่าการลงแผลแนวขวาง ( Stewart’s Incision)

3. ผู้ป่วยสามารถชูแขนสูงเหนือศีรษะได้ดีกว่าแผลแนวอื่น เพราะแนวแผลจะขนานไปกับแนวยืดหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าอก (Pectoralis Major)

.3. การลงแผลที่ไม่ได้วางแผน ทำให้มีแผลเป็นที่ไม่สวยงาม แลดูไม่ประทับใจ

.4. เกิดแผลหดรั้ง หรือรอยบุ๋ม พบได้บ่อยกรณีผ่าตัดแบบสงวนเต้า เนื่องจากเป็นการผ่าตัดคว้านเอาเนื้อเยื่อที่หุ้มอยู่โดยรอบก้อนมะเร็งออกไปปริมาณหนึ่ง ทำให้เต้านมสูญเสียปริมาตรไป เกิดการหดตัวของเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบตามมาได้ และเป็นมากขึ้นกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฉายแสงร่วมด้วย ถือเป็นปัญหาหรือผลอันไม่พึงประสงค์ที่พบได้เป็นประจำสำหรับผผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า

วิธีป้องกันคือ

1. เลือกตำแหน่งแผลให้เหมาะสม คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกในแต่ละตำแหน่งของเต้านมจะมีวิธีการวางแนวแผลไม่เหมือนกัน บางตำแหน่งจะลงแผลแบบแนวขนาน บางตำแหน่งจะลงแผลแบบแนวตั้ง ซึ่งต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเนื้อเยื่อจะมีการหดรั้งตัวในแนวไหนหลังจากแผลหาย แล้วก็ต้องวางแนวแผล เพื่อป้องกันการหดรั้งตัวให้ได้มากที่สุด

2. การนำเนื้อเยื่อเต้านมมาเสริมเติมเข้าไป ในบริเวณที่ได้รับการผ่าตัดเลาะก้อนมะเร็งออก กรณีก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก มักเกิดปัญหาที่ต้องนำเนื้อเยื่ออื่นมาเสริม สามารถเย็บขอบแผลเข้าหากันได้ก็จะทำให้ปิดโพรงได้ไม่ยากนัก แต่กรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ การเย็บปิดโพรงทำได้ยาก และจะส่งผลให้เต้านมเกิดการบิดเบี้ยวได้ง่าย ต้องมีการนำเนื้อเยื่อเต้านมข้างเคียงมาเสริมเติมช่องโพรง (Volume Displacement) แต่ถ้าปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมมีน้อยไม่เพียงพอ ก็จะต้องนำเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อแผ่นหลังมาปิดช่องโพรงแทน ( Volume Replacement)  ทั้งนี้ก็สามารถลดการหดรั้งของแผลได้

3. การนำเทคนิคการผ่าตัดแบบ Oncoplastic มาใช้ ซึ่งเป็นการดัดแปลงนำเทคนิคการผ่าตัดแบบศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านม โดยมีการคำนึงเรื่องตำแหน่งของแผล ปริมาณเนื้อเยื่อที่ตัดออก การนำเนื้อเยื่อเต้านมข้างเคียงมาเสริมเติมช่องว่าง การซ่อนรอยแผลเป็น และการคำนึงถึงเต้านมอีกข้าง ว่าต้องมีการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยหรือไม่เพื่อให้เต้านมสองข้างมีรูปทรงเหมือนกัน ภายหลังผ่าตัด

.

จะเห็นได้ว่าการวางแผนการผ่าตัดที่ดี จะสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงผลอันไม่พึงประสงค์จากการผ่าตัดเต้านมได้ เช่น

1. ก่อนผ่าตัดจะต้องมีการกำหนดแนวแผลว่าจะอยู่แนวไหน

2. ทดลองให้ผู้ป่วยขยับแขนชูขึ้นลง ขยับแขนท่าทางต่างๆ ดูว่ามีอะไรติดขัดหรือไม่

3. มีการกำหนดแนวขอบเขต เนื้อเยื่อเต้านมที่จะผ่าตัดออกด้วย เพื่อเวลาผ่าตัดจะได้สามารถผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมออกให้ได้หมด โดยไม่เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงออกมากจนเกินไปเกิดผลเสียต่อแผลได้

นอกจากนี้แล้วการนำเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย เช่น Oncoplastic เข้ามาใช้ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านม ก็จะให้ผลด้านความสวยงามของเต้านมได้ดีกว่าการผ่าตัดโดยไม่ได้วางแผนอะไรเลย

นพ. หะสัน มูหาหมัด

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเต้านม