เนื้อหาส่วนนี้เขียนขึ้นมาเพื่อให้คุณผู้หญิงที่คลำพบก้อนที่เต้านมได้ อ่านเป็นข้อมูลเบื้องต้น เป็นความรู้พื้นฐานก่อนที่จะเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลกันต่อไป ทั้งนี้เวลาพูดคุยกับแพทย์จะได้เข้าใจตรงกัน และยังสามารถซักถามข้อสงสัยที่มีต่อไปได้
ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งตกอกตกใจหรือตื่นตระหนกมากเกินไปสำหรับคุณผู้หญิงที่คลำเจอก้อนที่เต้านม ถึงแม้ว่าก้อนที่เต้านมเป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุดอาการหนึ่ง ที่ทำให้ผู้หญิงจำเป็นต้องไปพบแพทย์ พอๆกับอาการเจ็บเต้านม ก่อนอื่นขอเรียนให้ท่านที่เป็นก้อนที่เต้านมทราบในเบื้องต้นก่อนเพื่อลดความกังวลว่า ก้อนที่เต้านมเป็นได้จากหลายสาเหตุมากมาย ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นก้อนเนื้อร้ายเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติที่แข็งตัวขึ้นในบางขณะ เช่นช่วงก่อนมีเมนส์ หรือบางคนเป็นก้อนที่เกิดจากรอยนูนโด่งของกระดูกซี่โครง บางคนก็เป็นก้อนถุงน้ำเต้านม (พอเจาะแล้วก็หาย) บางคนก็เป็นเนื้องอกธรรมดา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นก้อนเนื้อร้าย หากพบว่ามีก้อนที่เต้านมก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ ให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นอะไรกันแน่
เบื้องต้น แพทย์ก็จะซักถามอาการทั่วๆไป เกี่ยวกับอาการของก้อนเช่น ระยะเวลาที่พบ เป็นมานานแค่ไหน มีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ เคยผ่าตัดอะไรที่เต้านมหรือเปล่า รวมทั้งถามประวัติความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม เช่น อายุ ประวัติทางกรรมพันธุ์ ประวัติประจำเดือนครั้งแรก จำนวนบุตร อายุที่คลอดบุตรคนแรก ระยะเวลาการให้นมบุตร การทานยาฮอร์โมน อายุที่หมดประจำเดือน อะไรทำนองนี้ เป็นต้น
เมื่อถามไถ่อาการเสร็จแล้ว ก็จะตรวจหน้าอก ก็คือ ตรวจโดยการคลำเต้านมดู การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ที่ชำนาญก็จะมีการคลำต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่ สามารถบอกได้ว่าก้อนนี้น่าจะเป็นอะไร แต่บางกรณีก็ไม่สามารถบอกได้ คือความแม่นยำโดยเฉลี่ยของการตรวจคลำอยู่ที่ราวๆ 40-60% แล้วแต่ความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์แต่ละท่านไป
เมื่อตรวจคลำเต้านมเสร็จก็ต้องส่งตรวจแมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์เสมอเพื่อ
1. ดูรายละเอียดของก้อน แยกแยะประเภทของก้อน จากภาพเอกซ์เรย์ที่ได้
2. ดูว่ามีก้อนอื่นๆที่ยังคลำไม่เจออยู่อีกบ้างไหม
3. ดูเต้านมอีกข้างว่ามีอะไรผิดปกติไหม
4. ดูหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย
จากนั้นแพทย์ก็จะทำการตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อยืนยันว่าก้อนดังกล่าวเป็นก้อนชนิดไหน สามารถบอกชื่อชนิดของก้อนได้โดยการตรวจเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจตรวจแบบใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดเอาเฉพาะเซลล์
การเจาะเซลล์จากก้อนไปตรวจ( FNA)
หรือใช้เข็มเจาะตัดชิ้นเนื้อเยื่อไปตรวจ (core needle biopsy ) หรือการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อไปตรวจ ก็สุดแล้วแต่ความเหมาะสมเป็นรายๆไป
การเจาะตรวจเนื้อเยื่อจากก้อน (core biopsy)
โดยทั่วไปขั้นตอนเพียงเท่านี้ก็สามารถตอบคำถามว่าก้อนที่เต้านมดังกล่าวเป็นก้อนชนิดไหน เป็นอันตรายหรือไม่ และจะต้องวางแผนการรักษาอย่างไร
ข้อควรระวัง
การอาศัยเพียงการคลำพบก้อน แล้วไปผ่าตัดออก โดยไม่ได้ตรวจแมมโมแกรม/อัลตราซาวนด์และเจาะตรวจทางเนื้อเยื่อก่อน มีโอกาสเกิดความผิดพลาดสูง เนื่องจากเป็นการข้ามขั้นตอนการวินิจฉัยที่สำคัญ และจะส่งผลเสียต่อการวางแผนการรักษาในขั้นต่อไป หากก้อนนั้นเป็นก้อนเนื้อร้าย เช่นอาจสูญเสียโอกาสในการผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือเสียโอกาสในการจัดวางตำแหน่งแผลที่เหมาะสม
นพ. หะสัน มูหาหมัด