โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่ามีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ  20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวันที่สำคัญพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีการเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมหญิงไทยอยู่ที่ 17 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2540  เทียบกับ 21 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2546  โดยมีอุบัติการณ์สูงสุดที่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 34 รายต่อประชากร 1 แสนคน   และสามารถพบในผู้ที่มีอายุน้อยได้  คือพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้นไป โดยมีช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 35-55 ปี

 

 

ถึงแม้ว่าตัวเลขจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในบ้านเรายังถือว่าน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ซึ่งฝรั่งเขามีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าบ้านเราราวๆ 10 เท่า  คือ ในผู้หญิงฝรั่ง 8 คนจะมีคนเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ 1 คน

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พบมะเร็งเต้านมในหญิงไทยมากขึ้น แต่พบว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามความเจริญของบ้านเมืองที่มากขึ้นด้วย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้ชีวิต (life style change) ที่ออกไปในแนวใกล้เคียงกับประเทศตะวันตกกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่นการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันมากขึ้นได้แก่ อาหาร ฟาสต์ฟูดทั้งหลาย การลดการบริโภคอาหารพวกผัก ผลไม้  การใกล้ชิดกับสารก่อมะเร็งมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในท้องถนน สารปนเปื้อนในอาหาร มลพิษในสิ่งแวดล้อมต่างๆ   ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกิน  การสูบบุหรี่  ดื่มเหล้า การเปลี่ยนแปลงของภาวะการเจริญพันธุ์ เช่น คนรุ่นใหม่มีประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วขึ้นกว่าเดิม การเป็นโสด ไม่มีบุตร หรือการตั้งครรภ์ครั้งแรกกันในอายุที่มากขึ้น  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง การใช้ยาคุมกำเนิด/ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทอง กันมากขึ้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงยุคใหม่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว ความเจริญก้าวหน้าในทางการแพทย์ ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมทำได้แพร่หลาย ง่าย สะดวก   แม่นยำกว่าที่ผ่านมา และประกอบกับการที่ผู้หญิงไทยหันมาเอาใจใส่ตรวจเช็คเต้านมกันมากกว่าเดิม ทำให้ส่วนหนึ่งพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะก่อนลุกลามที่ยังไม่ปรากฎอาการจากการตรวจแมมโมแกรมมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในภาพรวมเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ก็เป็นได้

ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในอนาคตต่อๆไป  อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านม ในผู้หญิงไทย จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญของบ้านเมืองและการเปลี่ยน life style ของผู้หญิงไทยหรือไม่

แต่สิ่งที่สามารถทำได้ในวันนี้คือ การหันมาเอาใจใส่สุขภาพเต้านมตนเองให้มากขึ้น ตลอดจนการเข้ารับการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมประจำปีกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ตลอด และเข้าพบแพทย์ทันที่ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม อย่างน้อยก็สามารถตรวจพบความผิดปกติ (ถ้ามี) ได้ตั้งแต่ ในระยะแรก ไม่เป็นการสายเกินไปที่จะรักษา

 นพ. หะสัน มูหาหมัด