เนื้อหาส่วนนี้จะเป็นการอธิบายการดูภาพ แมมโมแกรม  เวลาที่เราไปตรวจเช็คเต้านมเคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า แพทย์ด้านเต้านมเขาดูฟิล์มกันอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าปกติ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าผิดปกติ แล้วมันร้ายแรงหรือต้องทำอย่างไรกันต่อไป

ก่อนอื่นก็ต้องปูพื้นกันก่อนนิดนึงว่า แมมโมแกรมเป็นวิธีการตรวจเอกซ์เรย์เต้านม คล้ายๆกับการเอกซ์เรย์ปอดนั่นแหละครับ เราก็สามารถเห็นอะไร ต่อมิอะไรที่อยู่ในเต้านมได้ ตั้งแต่โครงสร้างปกติ เนื้อเยื่อ หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงอะไรที่แปลกปลอมเข้ามาหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ก้อนเนื้องอก จุดหินปูน ต่อมน้ำเหลืองโต รวมถึงลักษณะทางเนื้อเยื่อที่ไม่สมดุลย์กัน เป็นต้น  แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ในทุกๆคนนะครับ มันขึ้นกับความหนาแน่น ส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเต้านมของแต่คนไป เช่นคนที่มีอายุแล้ว ส่วนใหญ่เต้านมจะหย่อนยาน เนื้อเยื่อส่วนใหญ่จะฝ่อไปมากแล้ว และมีไขมันเข้ามาแทรกตัวแทน เวลาทำแมมโมแกรมมันก็จะโปร่ง เห็นอะไรได้ชัดเจน ดีกว่าคนที่อายุน้อยๆ ซึ่งเนื้อเยื่อเต้านมยังหนาแน่นอยู่เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเวลาทำแมมโมแกรมแล้วจะเห็นแต่สีขาวๆ บดบังรายละเอียดอื่นๆ ไปหมด

จุดสงสัย เราจะต้องมองหาเวลาทำแมมโมแกรมตรวจเช็คมะเร็งเต้านม ได้แก่

1ก้อนเนื้องอก (mass)

2. จุดหินปูน (calcification)

3. โครงสร้างเต้านมบิดเบี้ยว (architectural distortion)

4. การหนาตัวขึ้นของผิวหนัง (skin thickening)

5. เนื้อเยื่อเต้านมไม่สมดุลกัน (focal asymmetry)

ทีนี้เราดูกันที่ละอย่างว่าอะไรเป็นอะไร เอาแบบพอสังเขปนะครับ เพราะถ้าละเอียดเดี๋ยวจะไม่ไหวกันเปล่าๆ

ก้อน  :      ดูรูปทรง มีอยู่ 5  ประเภท

1. กลม (round)

2. วงรี (oval)

 

3. มีกลีบคล้ายดอกไม้ (Macrolobulated)

 

4. ไม่เป็นรูปร่างที่แน่นอน

 

รูปทรงแบบที่ 3,4  มักเป็นรูปทรงของก้อนเนื้อมะเร็ง

ดูขอบเขตของก้อน

1. เห็นขอบเขตชัดเจนครบวง

 

2. เห็นขอบเขตไม่ครบวง

 

3. เห็นขอบไม่ชัด

4. ขอบเป็นรอยหยัก

 

5. ขอบเป็นรอยแฉก กระจายตัวออกไป

 

แบบที่ 2,3,4,5 มักพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่า

จุดหินปูน

จุดหินปูน นับว่าสำคัญมากเพราะ เป็นสัญญาณที่บอกว่าเริ่มมีมะเร็งก่อตัวเกิดขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ต้องตรวจดูเวลาเช็คมะเร็งเต้านม เพราะหากพบและสามารถให้การวินิจฉัยได้ก็ถือว่ารักษาได้ทันท่วงที โอกาสหายขาดมีสูงมาก  มะเร็งส่วนใหญ่จะก่อตัวจากเซลล์บุผนังท่อน้ำนมส่วนแขนงปลายที่ต่อเข้ากับส่วนของต่อมน้ำนม เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติ บางช่วงจึงมีการขาดเลือดมาเลี้ยงและมีเซลล์จำนวนหนึ่งตายไป แล้วจึงมีหินปูนมาเกาะ ดังนั้นหินปูนมะเร็งจะมีรูปทรงตามการเรียงตัวของท่อน้ำนมส่วนแขนงปลาย ซึ่งมีลักษณะเป็นกิ่งก้าน  หรือจุดหินปูนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ

 หินปูนที่เกาะตามแขนงท่อน้ำนมส่วนปลาย เวลาทำแมมโมแกรม จะเห็นเป็นลักษณะแตกเป็นกิ่งก้านสาขา

สำหรับจุดหินปูนที่พบได้จากการทำแมมโมแกรมสามารถแบ่งแยกได้เป็นสองกลุ่ม โดยอาศัยรูปร่างและการจัดเรียงตัว ออกเป็นสองกลุ่มคือ

1. หินปูนธรรมดา : ชนิดนี้ไม่ร้ายแรงและไม่ต้องทำอะไร   ลักษณะหินปูนประเภทนี้ได้แก่ หินปูนที่ผิวหนัง  หินปูนที่เกาะตามหลอดเลือด  เม็ดหินปูนขนาดใหญ่  หินปูนเป็นรูปแท่ง  รูปวงกลม  เคลือบตามขอบเป็นรูปวงกลม เป็นต้น

2. หินปูนที่เริ่มมีความเสี่ยง : คือเริ่มสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องมีการพิสูจน์เนื้อเยื่อเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี    ลักษณะหินปูนประเภทนี้ได้แก่ หินปูนที่บอกรูปร่างได้ไม่ชัดเจน ขอบเขตก็ไม่ชัดเจน (amorphous calcification ) และหินปูนชนิด coarse heterogeneous

3.หินปูนที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง : แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงมาก ต้องเจาะเนื้อพิสูจน์ทุกกรณี   ลักษณะหินปูนประเภทนี้ได้แก่  หินปูนชนิด fine pleomorphic   ชนิด fine linear หรือ  fine linear branching

 การจัดเรียงตัวของหินปูนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา

 มะเร็ง มักมีการจัดเรียงตัวแบบกลุ่ม หรือ เป็นแนวเส้นแตกกิ่งก้านสาขาตามแนวท่อน้ำนม

หินปูนปกติมักอยู่เดี่ยว  1 ชิ้น หรือไม่ก็จะอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อน  ยิ่งถ้าเป็นแบบกระจายทั่วๆไป ทั้งสองข้างก็มักเป็นหินปูนชนิดไม่ร้ายแรง การแปลผลหินปูนจากแมมโมแกรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ละเอียดและซับซ้อน พอควร เพราะมันเป็นการตัดสินว่าจะต้องเจาะตรวจชิ้นเนื้อทันที หรือ จะติดตามไปก่อนซักระยะ  ลองคิดดูหากเราดูไม่ละเอียดรอบคอบ ปล่อยหินปูนมะเร็งที่เพิ่งก่อตัวในระยะแรก ทิ้งไว้ก็จะเกิดผลเสียแก่ผู้ป่วยมากแค่ไหน

โครงสร้างเต้านมบิดเบี้ยว (architectural distortion)  คือมีการหดรั้งของเนื้อเยื่อเต้านมเกิดขึ้น  สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งจากมะเร็ง และอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง   เวลาเจอแบบนี้มักแนะนำให้ตรวจชิ้นเนื้อพิสูจน์ร่วมด้วย

เนื้อเยื่อเต้านมไม่สมดุลกัน (focal asymmetry)  คือเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดของเต้านมไม่สมดุลกันเมื่อเปรียบเทียบกับอีกข้าง ปัจจุบันกรณีนี้แนะนำให้ตรวจติดตามไปก่อน  แต่ในผู้ที่ตรวจเต้านมอยู่ตลอดทุกปีหากมีกรณีนี้เกิดขึ้นอาจต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นสัญญาณของการเริ่มเป็นมะเร็งเต้านมได้

ลักษณะของหินปูนธรรมดา

 หินปูนเม็ดใหญ่เป็นก้อน

หินปูนที่เกาะตามหลอดเลือด

หินปูนเม็ดกลม ก้อนเดี่ยวๆ

 

หินปูนเม็ดกลมเดี่ยวกระจายทั่วๆ ไป ไม่เกาะกันเป็นกลุ่ม

ลักษณะหินปูนมะเร็ง

รูปร่างไม่แน่นอน เกาะกลุ่มกัน

ชนิดหยาบเกาะกลุ่มกัน

ชนิดละเอียดเกาะกลุ่มกัน

ชนิดที่เกาะตัวตามแนวท่อน้ำนม จะเห็นเป็นลักษณะมีกิ่งก้านสาขา

ส่วนใหญ่แล้ว เวลาทำแมมโมแกรมเช็คมะเร็งเต้านมกันนั้น สิ่งที่ผิดปกติมักยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีขนาดเล็กๆ ทำให้ตรวจคลำไม่ได้ ต้องอาศัยแมมโมแกรมนี่แหละเป็นตัวคัดกรองสิ่งที่พบความผิดปกติ จากแมมโมแกรมก็มักเป็น จุดหินปูนเล็กๆ ซึ่งต้องอาศัยการแยกแยะต่อไปอีกว่าเป็นหินปูนประเภทใด ดังที่กล่าวมาข้างต้น และท้ายสุดก็ต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพิสูจน์ตามมา หากสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่

 นพ. หะสัน มูหาหมัด