เป็นโรคมะเร็งเต้านมอีกระยะหนึ่ง ที่ถือว่ามีความยุ่งยากในการรักษา มีความสลับซับซ้อน เท่าที่ทราบ โรคระยะนี้ยังไม่มีคำบัญญัติในภาษาไทย จึงขอตั้งชื่อเอาเองว่าเป็น “ระยะที่สามตอนปลาย”  ความหมายคือเป็นโรคที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ มีการทำลายเนื้อเยื่อเต้านมเป็นบริเวณกว้าง มีก้อนแตกออกมาถึงชั้นผิวหนังเกิดเป็นแผลขึ้น สาเหตุเกิดจากการที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมปล่อยอาการทิ้งไว้เป็นระยะเวลาเนิ่นนาน โรคจึงค่อยๆลุกลามมากขึ้นขยายวงกัดกินเนื้อเยื่อเต้านมโดยรอบอย่างช้าๆ  โดยยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ นั่นคือโรคยังอยู่เฉพาะที่เต้านมและต่อมน้ำเหลืองรักแร้  คือยังเป็นระยะที่สาม แต่ เป็นระยะที่สามตอนปลาย

พบว่า มะเร็งระยะนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วย ปล่อยโรคเอาไว้เป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้รักษาตั้งแต่ต้น ทำให้โรคค่อยๆเป็นมากขึ้น ลุกลามเฉพาะที่ ด้วยความที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ เป็นแผลแตกออกมา ทำให้การรักษายุ่งยากกว่ามะเร็งระยะอื่นๆ อยู่พอสมควร

มะเร็งเต้านมในระยะที่สามปลายนี้ พบได้บ่อยในประเทศที่ความเจริญทางการแพทย์น้อย ระดับความรู้ ด้านการแพทย์ การเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ระดับเศรษฐานะ ของประชากร อยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำผู้ป่วยไม่ค่อยสนใจตัวเองเวลามีปัญหาเกิดขึ้นที่เต้านม นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยไปแสวงหาการรักษาที่ผิดวิธี ทำให้โรคไม่หายแต่กลับเป็นมากขึ้น ทำให้เสียโอกาสในการรักษาไป

ลักษณะของโรค

-เป็นก้อนขนาดใหญ่ เกิน 5 ซม. หรือ กินพื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของเต้านม

-มีแผลเกิดขึ้นที่ผิวหนังเต้านม

-มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเต้านมให้เห็น เช่น มีรอยบุ๋ม  รูขุมขนเด่นขัดคล้ายผิวเปลือกส้ม

-ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตมาก จับตัวกันเป็นก้อนแข็ง

                     ก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่เกิน 5 ซม. หรือ กินเนื้อที่เกิน 1/3 ของบริเวณเต้านม

                           เป็นแผลที่เต้านม ก้อนใหญ่โตมาก แตกเป็นแผล

การรักษา

ก่อนการรักษาต้องมีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนเสมอ เพราะหากตรวจให้ละเอียดเพิ่มเติมจะพบว่า ราว หนึ่งในสามของผู้ป่วย ตรวจพบมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นกลายเป็นระยะที่ สี่ไปแล้ว

การตรวจที่จำเป็นได้แก่  การตรวจแมมโมแกรม  การตรวจชิ้นเนื้อ (histologic prove) การตรวจหาการแพร่กระจายในแต่ละอวัยวะ (metastatic work up)

ผู้ป่วยระยะนี้ จะไม่สามารถเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีแรกได้ทันทีเหมือนกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยทั่วไป  ทั้งนี้เป็นเพราะขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก หรือบางรายมีแผลอยู่ ทำให้สภาพหน้าอกไม่เอื้ออำนวยให้ผ่าตัดได้  ดังนั้นการรักษาจึงต้องเริ่มต้นด้วยการให้ยาเคมีบำบัดก่อน( ผู้ป่วยบางคนจะให้ยาต้านฮอร์โมน)  วัตถุประสงค์ของการให้ยา คือเพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น (control of the disease)  และลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งให้มีขนาดเล็กลง (down size) จนอยู่ในขนาดที่สามารถทำการผ่าตัดออกไปได้โดยไม่ยากลำบากนัก โดยทั่วไปการให้ยาจะมีสองแนวทาง คือให้ยาไปจนก้อนมีขนาดเล็กลงจนสามารถผ่าตัดได้ ก็จะทำการผ่าตัดให้ก่อน แล้วก็ให้ยาต่ออีกหลังผ่าตัดจนครบกำหนด  อีกแนวทางคือจะให้ยาไปจนครบกำหนดก่อน แล้วค่อยมาผ่าตัดทีหลัง

หลังจากนั้น เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการรักษาอื่นๆ ตามมาตรฐาน  ได้แก่ การฉายแสง การให้ยาต้านฮอร์โมน หรือการให้ยา Herceptin  แล้วแต่กรณี เป็นลำดับถัดไป

สิ่งที่ถือว่ายุ่งยากในการรักษาผู้ป่วยระยะนี้คือ “การผ่าตัด”

อย่างที่กล่าวไว้แล้วคือ การผ่าตัดจะไม่สามารถทำได้ทันที ต้องรอให้ยาจนก้อนหดเล็กลงก่อน   ซึ่งส่วนใหญ่ราว 80% ก้อนจะตอบสนองจนหดเล็กลงอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดได้  แต่หากก้อนไม่หดเล็กลง หรือหดเล็กลงบ้างแต่ยังผ่าตัดโดยวิธีปกติไม่ได้อยู่ดี  กรณีแบบนี้ต้องใช้การผ่าตัดที่ยุ่งยากมากขึ้น คือผ่าตัดก้อนออกไปเป็นบริเวณกว้างแล้วใช้เนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นมาซ่อมแซมหรือเสริมสร้างผนังทรวงอกขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้หากไม่ได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะต้องทนทุกข์ทรมานกับการที่มีก้อนเนื้อมะเร็งไปตลอด ส่งกลิ่นเหม็น รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำอีกด้วย

                      ผู้ป่วยผ่าตัด แบบ เทคนิคพิเศษ ใช้เนื้อเยื่อหน้าท้อง มาเสริมสร้างแผล 

การผ่าตัดขั้นสูง สามารถเปลี่ยนแปลง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

                                   การผ่าตัดที่ทำภายหลัง จากให้ยาเคมีบำบัด 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า มะเร็งเต้านมระยะที่สามตอนปลายนี้ก็คือ มะเร็งเต้านมที่ถูกทิ้งให้เป็นมานาน  ผู้ป่วยอาจไม่ได้สังเกตว่าเต้านมตนเองกำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือผู้ป่วยที่มีก้อนขนาดเล็กยังอยู่ในระยะต้น ไม่ได้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ   จนสุดท้ายเมื่อมาพบแพทย์ก็พบว่าโรคเป็นมากแล้ว อยู่ในระยะที่สามปลายๆแล้ว  จึงอาจกล่าวได้ว่าสัดส่วนของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะนี้ น่าจะใช้เป็นดัชนี ชี้วัดความรู้ หรือระดับการใส่ใจในสุขภาพเต้านมของผู้หญิงในประเทศนั้นๆได้เป็นอย่างดี

นพ.หะสัน  มูหาหมัด ศัลยแพทย์ด้านเต้านมและโรคมะเร็ง