การผ่าตัดแบบ Oncoplastic : เป็นการนำเทคนิควิธีการด้านศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม เพื่อให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดออกมาดีที่สุด เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายไป ทั้งนี้นอกจากจะต้อง ผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งออกให้หมดแล้ว ผลการผ่าตัดจะต้องออกมาดี คือเต้านมยังเป็นเต้านม รูปทรงไม่บิดเบี้ยว ไม่มีแผลเป็นที่น่ารังเกียจ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงเต้านมอีกข้างด้วย โดยอาจผ่าตัดปรับทรง ลดขนาดในเต้านมอีกข้างร่วมด้วย เพื่อให้เต้านมยังคงรูปลักษณ์ที่สวยงาม เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
การผ่าตัดแบบ Oncoplastic นี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในการผ่าตัดเต้านมออกหมดทั้งเต้า และการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ซึ่งมีจุดม่งหมายเหมือนกันคือ กำจัดมะเร็งให้หมดและยังคงสภาพเต้านมไว้ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
Oncoplastic Surgery สำหรับผู้ป่วยที่เลือกวิธีตัดเต้านมออกทั้งหมด
หมายถึง การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมภายหลังการตัดเต้านมออกทั้งเต้าแบบเสริมสร้างทันทีพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม
มีหลักการว่า มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นอยู่ในเนื้อเต้านม โดย มีผิวหนังที่ห่อหุ้มเนื้อเยื่อเต้านมอีกที ดังนั้นส่วนที่จะต้องตัดออกทั้งหมด คือส่วนที่เป็นเนื้อเต้านมที่ถูกผิวหนังหุ้มอยู่ โดยเก็บรักษาผิวหนัง รวมทั้งส่วนหัวนม (ในบางกรณี) เอาไว้ จากนั้นก็นำวัสดุไปใส่ไว้แทนที่เนื้อเต้านมที่ถูกตัดเลาะออก แล้วเอาผิวหนังคลุมทับกลับเข้าไป ก็จะได้เต้านมใหม่ที่เป็นรูปทรงใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
Skin Sparing Mastectomy (SSM) : เป็นการผ่าตัดที่เลาะเอาเฉพาะเนื้อเยื่อเต้านมที่อยู่ใต้ผิวหนังออก โดยเก็บรักษาผิวหนังที่ห่อหุ้มเต้าเอาไว้ โดยปกติวิธีนี้เป็นการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด และต้องการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ไปพร้อมๆกัน หลังจากผ่าตัดก็ยังคงมีเต้าอยู่เหมือนก่อนผ่าตัด เพียงแต่ว่าสิ่งที่อยู่ข้างในเป็นสิ่งที่นำมาทดแทนเต้านม สำหรับสิ่งที่นำมาเสริมทดแทนเต้านมนั้น ในปัจจุบันนี้แนะนำให้ใช้เต้านมเทียม ( silicone) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก โดยต้องมีการวางแผนก่อนผ่าตัดเป็นอย่างดี ว่าจะใช้ชนิดไหน ขนาด รูปร่าง ความลาดเอียง อย่างไร เพื่อให้ใกล้เคียงกับรูปร่างของเต้านมเดิมที่ถูกตัดออกไปมากที่สุด
สำหรับการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง หรือกล้ามเนื้อหลัง มาแทนเต้านม ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมและไม่แนะนำให้ใช้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มากเกินไป เพิ่มแผลโดยไม่จำเป็น มีผลเสียต่อกล้ามเนื้อ และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว จึงเสื่อมความนิยมลงในปัจจุบันนี้
Nipple Sparing Mastectomy (NSM) : เป็นการผ่าตัดแบบเดียวกับ Skin sparing mastectomy แต่ จะเก็บสงวนส่วนหัวนมและลานนมเอาไว้ เหตุผลในการที่ต้องตัดเอาหัวนมออกไปในกรณี SSM ก็เนื่องจากทฤษฎีที่ว่าเซลล์มะเร็งสามารถลุกลามตามท่อน้ำนมมาถึงหัวนมได้ จึงต้องผ่าตัดส่วนของหัวนมออกด้วยเสมอ
แต่ข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามะเร็งส่วนใหญ่ราว 90 % ไม่ได้ลุกลามเข้าสู่หัวนมอย่างที่เคยคิดกัน จึงมีแนวคิดในการที่จะเว้นตัดหัวนมออกโดยไม่จำเป็น แต่การผ่าตัด NSM ไม่ได้ถือว่าเป็นมาตรฐานใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย จำเป็นต้องเลือกทำในรายที่โอกาสที่หัวนมจะถูกมะเร็งลามถึงน้อย โดยมีเกณฑ์พิจารณา เช่นก้อนมะเร็งขนาดเล็ก อยู่ห่างจากหัวนมพอสมควร รวมทั้งขณะผ่าตัดต้องตรวจเนื้อเยื่อใต้หัวนมดูก่อนว่าไม่มีเซลล์มะเร็ง เท่านี้ก็เพียงพอในการเก็บสงวนหัวนมไว้ได้
Oncoplastic Surgery สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เลือกวิธีตัดเต้านมแบบสงวนเต้า
เป้าหมายของการผ่าตัดสงวนเต้าคือ ต้องสามารถผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งออกไปให้หมดจริงๆ โดยต้องเลาะเนื้อเต้านมปกติที่อยู่รอบๆก้อนมะเร็งออกไปเป็นบริเวณกว้างพอควร และขณะเดียวกันต้องสามารถทำให้เต้านมยังเป็นเต้านมอยู่ เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม หรือผ่าตัดปรับทรงให้ดูดีกว่าเดิม นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการผ่าตัดสงวนเต้าจริงๆ
สิ่งที่มักเป็นปัญหาในการผ่าตัดสงวนเต้าคือ
1. แพทย์คัดเลือกผู้ป่วยไม่เหมาะสม เช่นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นซ้ำ หรือผู้ที่มีมะเร็งอยู่หลายจุด หลายตำแหน่ง ไม่ควรถูกแนะนำให้รับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
2. แพทย์มีข้อจำกัดในการเลาะเนื้อเยื่อออกให้ได้ปริมาณพอสมควร เนื่องจากผู้ป่วยมีเต้านมขนาดเล็กไม่เหมาะที่ผ่าวิธีนี้ หรือก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่เกิน ทำให้บางครั้งการตัดเลาะเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ ส่งผลเพิ่มโอกาสการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งได้
3. หากลงบาดแผลไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดแผลเป็นที่ไม่สวยงาม และเกิดการบิดเบี้ยวของเต้านมในภายหลังได้โดยเฉพาะหลังการฉายแสงซึ่งพบได้บ่อย และแก้ไขยาก บางรายต้องแก้ด้วยการตัดเต้าออกทั้งหมดและเสริมขึ้นมาใหม่
4. การฉายแสงที่เป็นภาคบังคับของการผ่าตัดวิธีนี้ จะส่งผลต่อการหดรั้ง การบิดเบี้ยวของรูปทรงเต้านมในระยะยาวได้
ปัญหาต่างๆเหล่านี้จะลดน้อยลงไปมาก หากใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบ Oncoplastic และมีการวางแผนการผ่าตัดตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้รูปลักษณ์ของเต้านมหลังจากผ่าตัดไปแล้ว ดูดีที่สุด
นพ. หะสัน มูหาหมัด