Question เสริมหน้าอกมา หากตรวจเเมมโมแกรมจะทำให้ซิลิโคนแตก หรือเห็นมะเร็งยากขึ้นไหมคะ

Answer โดย นพ.หะสัน มูหาหมัด ศัลยแพทย์ด้านเต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1

“แมมโมแกรม (Mammogram) คือ การตรวจเต้านมโดยใช้รังสีเอ็กซ์  ในขณะตรวจเต้านมจะถูกกดโดยเครื่องให้แน่นเพื่อที่จะได้เห็นความผิดปกติอย่างชัดเจน

ทว่าวิธีการตรวจเเมมโมแกรม สำหรับคนเสริมเต้านมโดยมีซิลิโคนเต้านมปลอมอยู่ด้านในเต้านมนั้น คุณหมอจะใช้วิธีการตรวจเทคนิคพิเศษ ในการที่จะเอ็กซเรย์โดยการดึงเนื้อเยื่อเต้านมออกจากซิลิโคน จากนั้นเนื้อเต้านมที่ถูกดึงยืดขึ้นมาต่างหาก ก็จะอยู่คนละที่กับซิลิโคน โดยจะกันไว้อีกที่ แล้วก็เอ็กซเรย์ดูเต้านมบริเวณนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น พบสิ่งผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ต้องมีการอัลตราซาวน์ (Ultrasound) ร่วมด้วย ดูว่ามีอะไรผิดปกติด้วยหรือไม่

ในรายผู้เสริมเต้านมจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการตรวจปกติ แต่ไมได้ยุ่งยากอะไร เพราะบางคนกลัวว่า การตรวจแมมโมแกรมจะต้องมีการบีบหน้าอก ซิลิโคนจะแตกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การตรวจแมมโมแกรมไม่ได้สามารถจะบีบให้แตกได้ง่ายๆ ขนาดนั้น

ส่วนกรณีที่นำไขมันตนเองมาฉีดเสริมเต้านม การเอ็กซเรย์ต่างๆ ก็ทำได้ปกติ หากเป็นมะเร็ง ก็สามารถเห็นก้อนหรือเนื้อร้ายได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สุขภาพเต้านมเป็นสิ่งสำคัญ การทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไป ต้องเข้ามาพบแพทย์ อย่างน้อยเป็นการเช็กสุขภาพของตัวเองก่อนว่าหน้าอกมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะได้รีบแก้ไขได้ทัน ดีเสียกว่าไม่เคยเช็กเลย แล้วอยู่ดีๆ เป็นก้อนขึ้นมา มาตรวจอีกทีพบว่าเป็นมะเร็ง โอกาสรักษาก็น้อยลง ยากขึ้นกว่าการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม”

ที่มา :- บทสัมภาษณ์ นพ. หะสัน มูหาหมัด โดย Manager Online