บางครั้งเราก็บอกสาเหตุที่ชัดเจนจริงๆ ของการเกิดมะเร็งเต้านมไม่ได้ นั่นทำให้ยังไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยวิวัฒนาการใหม่ของการผ่าตัดศัลยกรรมเต้านมที่เรียกว่า Risk Reducing Mastectomy งานนี้บอกเลยว่าสาวกลุ่มเสี่ยงเตรียมเฮกันได้ เพราะวิธีนี้ป้องกันมะเร็งได้ตรงจุดกว่าใครเลยล่ะ

อาการผิดปกติ ที่สังเกตได้

ถึงมะเร็งเต้านมอาจจะไม่มีอาการเจ็บปวดเตือนเราในระยะแรก แต่สิ่งที่เราจะสังเกตเองได้ก่อนก็คือ เมื่อไหร่ที่พบความผิดปกติที่เต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างของเต้า มีรอยย่น บุ๋ม หดตัว หรือมีสะเก็ด หัวนมคันหรือแดงจนผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกมาจากหัวนม หรือแม้แต่มีการบวมของรักแร้ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะดีกว่า

Risk Reducing Mastectomy คืออะไร?

นี่เป็นชื่อที่ใช้เรียกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองเต้า ซึ่งจะใช้ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างสูง โดยวิธีนี้จะช่วยกำจัดเนื้อเยื่อเต้านมออกไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อไม่มีเต้านมแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเกิดมะเร็งได้ และเมื่อผ่าตัดแล้ว ยังสามารถเสริมเต้านมใหม่ขึ้นมาได้โดยใช้เต้าเทียม ทำให้สาวๆ ก็จะยังคงมีหน้าอกอยู่เป็นรูปทรงเต้านมเหมือนเดิม เพียงแค่ไม่ใช่เนื้อเยื่อเต้านมเดิมเท่านั้นเอง

ใครคือกลุ่ม Target??

คุณหมอบอกว่า “การคัดเลือกผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้ารับการผ่าตัดวิธีในปัจจุบัน จะพิจารณาในผู้ที่มีความเสี่ยงระดับสูง ซึ่งต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงจากแพทย์เป็นอย่างดีก่อน ได้แก่ การตรวจพบว่ามียีนมะเร็งเต้านม การที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจชิ้นเนื้อเจอว่ามีลักษณะผิดปกติที่บ่งชี้ว่าสามารถกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม”

Health Tip:

แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เราเองก็ควรที่จะเตรียมตัวป้องกันมะเร็ง โดยเริ่มจากหมั่นสังเกตความผิดปกติของเต้านมตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสาวคนไหนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรจะไปตรวจแมมโมแกรม เอ็กซเรย์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำทุกปี เพื่อที่เมื่อไหร่เจอสิ่งผิดปกติขึ้นมาจะได้รีบรักษากันทัน

 

นพ. หะสัน มูหาหมัด
ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็งเต้านม
คลินิกรักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร. 02-640-1111 ต่อ 3659, 3660