เซลล์มะเร็ง คือ เซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ปกติของร่างกายเดิมไปเป็นเซลล์แปลกปลอมที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย

โรคมะเร็งมีลักษณะที่สำคัญคือ

1. ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ได้

2. มีความดุร้าย สามารถเติบโตและคุกคามอวัยวะข้างเคียง รวมถึงสามารถแพร่กระจายจากอวัยวะต้นกำเนิดไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้

ดังนั้นการที่เรามีก้อนเนื้องอกที่ใดที่หนึ่ง ก็ไม่ได้เท่ากับว่าเป็นมะเร็งเสมอไป อาจเป็นได้ทั้งเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง (Cancer or malignancy) และเนื้องอกธรรมดา (Benign tumor) ซึ่งต้องอาศัยพยาธิแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยโรคต่อไป

มะเร็งที่พบบ่อย มีมะเร็งชนิดใดบ้าง?

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2555 มะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย 3 อันดับแรกแยกตามเพศ ได้แก่

เพศชาย : มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ตามลำดับ

เพศหญิง : มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ

เคมีบำบัด (Chemotherapy) คืออะไร?

การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) หมายถึง การให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดนั้นอยู่บนพื้นฐานความรู้เรื่องการแบ่งเซลล์ในสิ่งมีชีวิต ดังนั้นหากเราให้ยาเคมีบำบัดที่สามารถไปยับยั้งการแบ่งเซลล์ดังกล่าวนี้ ก็จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไปได้

อย่างไรก็ดีเนื่องจากยาเคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเท่านั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติของร่างกายทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดรุ่นใหม่ๆ จากองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งโดยตรง (Targeted Chemotherapy) ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้นกว่าในอดีต ช่วยลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ทำไมต้องให้ยาเคมีบำบัด?

โดยทั่วไปการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็ง และไม่กลับมาเป็นซ้ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น

2.ควบคุมโรค ให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น และไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น

3. บรรเทาอาการจากโรค สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วย โรคประจำตัว รวมถึงการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ เพื่อพิจารณาเลือกให้ยาเคมีบำบัด ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด และมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดด้วย

เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทำไมต้องรักษา? รักษาอย่างไร?

มะเร็งระยะสุดท้ายหรือมะเร็งลุกลาม (Metastatic cancer) เป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายหลักของการรักษา คือการควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น และบรรเทาอาการของโรค วิธีการรักษามะเร็งระยะสุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย และอาการที่เกิดขึ้นจากโรคเป็นหลัก มีทั้งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การฉายแสง การผ่าตัด หรือหลายๆ วิธีร่วมกัน ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมโรคได้มากขึ้น รวมทั้งมีอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้นและอายุยืนยาวขึ้น

 

นพ.วิกรม เจนเนติสิน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยาและยาเคมีบำบัด
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง และเคมีบำบัด
โรงพยาบาลพญาไท 1