อาการเจ็บเต้านมเป็นอาการที่ค่อนข้างพบได้บ่อย และมักเป็นอาการแบบปวดครอบจักรวาล คือนอกจากบอกสาเหตุการเจ็บได้ไม่แน่ชัด แล้วอาการเจ็บจากอวัยวะส่วนไหนที่อยู่แถวๆนม ก็จะถูกผู้ป่วยเหมารวมเป็นอาการเจ็บเต้านมหมด

ดังนั้นประการแรกต้องแยกแยะก่อนว่าอาการปวดนั้น เป็นจากส่วนอวัยวะไหนกันก่อน เพราะบางครั้งผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคกระเพาะอาหาร ก็มีอาการเจ็บที่หน้าอกได้เหมือนกัน

         ผู้หญิงที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเต้านม  สามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มที่มีอาการเจ็บจากเนื้อเยื่อเต้านมจริงๆ  สาเหตุในกลุ่มนี้ได้แก่

 1. อาการปวดตามรอบประจำเดือน

ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาการปวดเกิดจากการปวดคัดตึงเต้านม ตามรอบประจำเดือน พบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์  อาการมักเป็นก่อนการมีประจำเดือน ราว 4-5 วัน และจะเป็นอยู่ราว 5-7 วัน จากนั้นก็ค่อยๆหายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไร  และมีโอกาสเป็นได้ทุกรอบเดือนมากบ้างน้อยบ้าง  หรืออาจไม่เป็นทุกรอบเดือนก็ได้ ไม่สำคัญอะไร ลักษณะของอาการปวดคือ ปวดคัดตึง แน่น รู้สึกบวมๆ ในเต้านมสองข้าง อาจไม่เท่ากันก็ได้ หากสัมผัสโดนก็อาจเจ็บมากขึ้นได้ คนที่เป็นมาก อาจปวดร้าวไปรักแร้ หรือไหล่ แขนได้ สาเหตุ เกิดจากการคั่งตัวของสารน้ำเนื้อเยื่อเต้านมบวมขึ้น อันป็นผลมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่หลั่งมาในช่วงก่อนมีประจำเดือน ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ปกติตามธรรมชาติของร่างกาย ไม่ได้ถือว่าผิดปกติหรืออันตรายอะไร และไม่ต้องรักษาอะไร ยกเว้นในรายที่ปวดมาก อาจจะทานยาลดไข้แก้ปวดธรรมดาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด  ส่วนผู้ที่ปวดรุนแรงถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ต้องลางานกันบ่อยๆ อันนี้ยังไม่เคยเจอ แต่ในตำราเขียนไว้ว่ามีผู้ป่วยแบบนี้ด้วย   การรักษาจะใช้ยาระงับ ที่ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมน ก็จะช่วยบรรเทาได้

 ข้อสังเกตุ

1. อาการปวดส่วนใหญ่ไม่รุนแรง รูปแบบคือ คัดตึง บวมเต้า ไม่ใช่เจ็บแบบแปล๊บๆ

2. เป็นก่อนมีประจำเดือน 4-5 วัน ประจำเดือนหมดก็หาย หากไม่แน่ใจลองทำเครื่องหมายกากบาทบนปฏิทิน(mastalgia chart)ในช่วงที่มีอาการปวด และช่วงที่มีประจำเดือน สัก 3 เดือน ว่าสัมพันธ์กันทุกเดือนหรือไม่

3. ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกรอบเดือน บางคนทั้งปีเป็นแค่รอบเดือนเดียว

4. อาการเป็นมากน้อย แต่ละรอบเดือนอาจไม่เท่ากัน

5. การตัดมดลูกไปแล้ว(ไม่มีประจำเดือน) ก็มีอาการได้ ถ้ายังมีรังไข่ หรือยังอยู่ในวัยเจริญพันธ์ เพราะอาการนี้เป็นเรื่องของฮอร์โมนไม่เกี่ยวกับเลือดจากประจำเดือน 

2. อาการปวดจากเนื้อเยื่อรอบท่อน้ำนมอักเสบ ( periductal mastitis)

พบไม่ค่อยบ่อยนัก แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดได้ อาการคือ เป็นก้อนแข็งๆ กดแล้วเจ็บ ส่วนมากมักเป็นใกล้ๆ ลานนมหรือหัวนม มีลักษณะปวดระบมอักเสบ เมื่อแพทย์ตรวจดูจะพบจุดที่เจ็บ เป็นก้อน หรือบวมแดง

การรักษาต้องทานยาปฏิชีวนะประเภทออกฤทธิ์กว้าง เพราะเชื้อที่เป็นสาเหตุ มักมีเชื้อโรคหลายชนิด(mixed organisms) 

3. อาการปวดจากสาเหตุอื่นๆ

ได้แก่ การบาดเจ็บ เนื่องจากการกระทบกระแทก โดนอะไรชนมา   ก็เป็นสาเหตุที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

 

กลุ่มที่มีอาการปวดจากเนื้ออื่นๆ ที่ไม่ใช่จากเต้านมโดยตรง

กลุ่มนี้พบได้บ่อยไม่แพ้กัน เนื่องจากอาการเจ็บที่เกิดที่ อวัยวะส่วนอื่นใดที่อยู่บริเวณเต้านม  ก็จะถูกผู้ป่วยเหมารวมไปว่าปวดจากเต้านม  ทั้งๆที่ความจริงเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูกซี่โครงที่อยู่ข้างล่างใต้เต้านมลงไป แต่ในยามที่มีอาการปวดก็จะถูกรับรู้ว่าปวดในเต้านม

อาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหรือกระดูกซี่โครง (musculoskeletal pain) หรือ Tietze syndrome ถือว่าพบได้โดยทั่วไปในผู้หญิง โดยไม่มีสาเหตุอะไรที่แน่ชัด (ยกเว้นถูกกระแทกหน้าอก) อาจเป็นจากการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมตามปกติ ซึ่งไม่ได้มีอันตรายหรือเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด อย่างที่หลายๆคนวิตกกังวล

หน้าที่ของแพทย์คือต้องตรวจหาให้ได้ว่าจุดที่เจ็บเกิดจากตรงส่วนไหนของกล้ามเนื้อ หรือกระดูกซี่โครง แล้วลองกดกระตุ้นดูว่าส่งผลให้เกิดอาการปวดแบบเดียวกับที่ผู้ป่วยรู้สึกอยู่ใช่หรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันกับผู้ป่วยว่าอาการปวดเกิดจากตรงนี้ ตรงนั้น  จากนั้นก็ส่งตรวจแมมโมแกรมเพื่อดูรายละเอียดข้างในเต้านมว่ามีอะไรผิดปกติซ่อนเร้นอยู่บ้างไหม

สังเกต จุดปวดตามแนว ซี่โครง

อาการปวดแบบนี้ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เป็นเองหายเอง  ไม่มีอันตรายอะไร บางคนอาจทานยาแก้กล้ามเนื้ออักเสบก็เพียงพอ

ข้อสังเกตุ

1. อาการปวดมักเป็นแบบแปล๊บๆ หรือจี๊ดๆ ไม่รุนแรงมาก พอสังเกตุได้

2. การตรวจสามารถยืนยันได้ โดยค้นหาจุดที่มีอาการปวดในตำแหน่งกระดูกซี่โครง หรือกล้ามเนื้อหน้าอกให้เจอ  เมื่อมีการกดย้ำลงไปก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดเหมือนที่เป็นอยู่

3. ไม่เกี่ยวกับการเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ข้างใน (แต่แพทย์มักตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม เพื่อไม่ประมาท)

กล่าวโดยสรุป อาการปวดเต้านม มักไม่ใช่อาการที่อันตราย หรือน่ากลัวอะไร  แต่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หน้าที่ของแพทย์ก็คือ ทำการตรวจให้ละเอียด   สืบค้น แยกแยะสาเหตุของอาการปวด ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วย เพื่อลดความกังวลใจ  

การอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการปวดไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดก็จริง แต่จะทำให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลลงได้

“Reassure Does Not Cure The Pain But Alter Patient’s Attitude To The Pain”

 นพ. หะสัน มูหาหมัด