ทั้งสองวิธี เป็นการตรวจที่ถูกนำมาใช้สำหรับตรวจเช็คมะเร็งเต้านมในผู้หญิงปกติที่ยังไม่มีอาการ กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องทำทั้งสองวิธี  เลือกทำอย่างใด อย่างหนึ่งไม่ได้หรือ ไม่อยากทำแมมโมแกรม เพราะกลัวเจ็บ หรืออยากทำแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวเพราะคิดว่าละเอียดกว่าอัลตราซาวนด์

เบื้องต้นมารู้จัก แต่ละวิธีกันก่อน

แมมโมแกรม : เป็นการถ่ายภาพดูรายละเอียดในเต้านมโดยอาศัยรังสีเอ็กซ์  เหมือนกับการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ปอด ภาพที่ได้ก็จะเห็นเนื้อเยื่อปกติของเต้านม  หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น หากมีสิ่งผิดปกติก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าไม่ใช่โครงสร้างปกติของเต้านม ส่วนจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ต้องแยกแยะต่อไปอีกว่าสิ่งนั้นมันเป็นอะไร เช่นหากเราพบหินปูน หินปูนนั้นอาจเป็นหินปูนธรรมดา หรือเป็นหินปูนมะเร็งก็ได้   หรือ หากเราพบก้อน อาจเป็นก้อนเนื้องอกมะเร็ง หรือเป็นก้อนเนื้อที่ไม่ร้ายแรงก็ได้ และความคมชัดของการทำแมมโมแกรมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อเยื่อเต้านมด้วยเช่นกัน ถ้าเต้านมของคนอายุน้อย ที่ยังมีเนื้อเยื่อหนาแน่นอยู่ ก็จะมีความคมชัดน้อยกว่าเต้านมคนสูงอายุที่มีเนื้อเยื่อไม่หนาแน่นมีการฝ่อเหี่ยว มีไขมันแทรกเข้าไปแทนที่

อัลตราซาวนด์ :  เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการสร้างภาพรายละเอียด ส่วนประกอบของเต้านม คล้ายกับการใช้ SONAR ในเรือดำน้ำที่ใช้ในการสร้างภาพใต้ทะเล  หรือเรดาห์เครื่องบินตรวจหาวัตถุในอากาศ สิ่งที่พบจากการทำอัลตราซาวนด์ มักจะเป็นก้อนเนื้องอกที่ยังมีขนาดเล็ก  และพวกถุงน้ำ(cyst)   กรณีที่พบเป็นก้อนเนื้อ ก็จะต้องแยกแยะต่อไปอีก ว่าเป็นก้อนเนื้องอกธรรมดาที่ไม่อันตราย หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็งกันแน่ อัลตราซาวนด์ไม่สามารถใช้ตรวจจับความผิดปกติบางอย่างได้เหมือน แมมโมแกรม เช่น จุดหินปูนมะเร็งที่มีขนาดเล็ก

ดังนั้นการตรวจเช็คมะเร็งให้ได้รายละเอียดที่ดี จึงจำเป็นต้องใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันเสมอ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ความผิดปกติหรือการก่อตัวของมะเร็งมักจะพบได้สามแบบคือ

1.  แบบที่ก่อตัวเป็นหินปูน

2. แบบที่ก่อตัวเป็นก้อนเนื้อขึ้น

3. แบบที่เป็นก้อนเนื้อร่วมกับหินปูน

เราทราบดีว่าการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมนั้นมีเป้าหมายเพื่อค้นหาความผิดปกติในระยะแรกเริ่ม ไม่ใช่รอให้เป็นก้อนขึ้นมาก่อนแล้วตรวจ นั่นคือสิ่งที่ค้นหาจึงเป็นสิ่งเล็กๆ เช่นจุดหินปูน หรือก้อนเนื้อเล็กๆ  การทำแมมโมแกรมก็จะตรวจจับหินปูนได้ดี ขณะที่อัลตราซาวนด์ก็จะตรวจจับก้อนเนื้อเล็กๆได้  มีรายงานทางการแพทย์ว่าการใช้อัลตราซาวนด์ร่วมกับแมมโมแกรมจะเพิ่มความไวในการตรวจจับมะเร็ง (sensitivity) สูงเกือบ 100%  ขณะที่การตรวจแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวให้ความไวในการตรวจจับมะเร็ง (sensitivity) ราว 70-80 %   ดังนั้นในการตรวจเช็คมะเร็งเต้านม การทำร่วมกันทั้งสองวิธีทำให้ได้ผลการตรวจเช็คที่สมบูรณ์ที่สุด

นพ. หะสัน มูหาหมัด