ปัญหาเนื้องอกของหัวนม พบได้ไม่บ่อยนัก แต่จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลได้สูง อีกทั้งศัลยแพทย์ทั่วไปเองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยกับปัญหาเรื่องเนื้องอกของหัวนมกันเท่าไหร่ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวพบได้ไม่บ่อย นั่นเอง

ตามข้อมูลทางการแพทย์แล้วก้อนที่หัวนม มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกกลุ่ม Nipple Adenoma , Intraduct Papilloma เป็นต้น โดยส่วนน้อยที่เป็นชนิดเนื้อร้าย เช่น  Paget’s disease of the nipple (ซึ่งมีความซับซ้อนยุ่งยากในการรักษามากกว่า)

ลักษณะอาการของโรค

อาการของผู้ป่วยที่มีก้อนที่หัวนม นอกเหนือจากการคลำหรือสัมผัสได้ก้อนแล้ว ผู้ป่วยยังอาจมีอาการเจ็บ ปวด ที่หัวนม มีเลือดหรือของเหลวออกทางหัวนม ตลอดจนมีแผลเกิดขึ้นที่หัวนมได้ด้วยเช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย

โดยหลักการแล้ว แพทย์จะใช้วิธีการตรวจ เพื่อวินิจฉัยให้ได้ในเบื้องต้นก่อนว่า ก้อนเนื้องอก หรือ อาการผิดปกติบริเวณหัวนมที่ผู้ป่วยมีอาการนั้น เป็นสัญญาณอาการของโรคมะเร็งหรือไม่ จากนั้นก็จะวางแผนการรักษาต่อไป ตามลักษณะที่ตรวจพบ

ในทางปฏิบัติ การตรวจก็จะเริ่มจากการตรวจร่างกายดูก่อนว่าก้อนมีลักษณะอย่างไร มีอาการเจ็บที่ก้อนหรือไม่ มีของเหลวออกทางหัวนมหรือไม่ ตลอดจนตรวจดูว่ามีอาการบ่งบอกของโรคมะเร็งเต้านมร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้นก็ส่งตรวจแมมโมแกรม ร่วมกับอัลตราซาวนด์ เพื่อค้นหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจมีร่วมด้วย  หากมีของเหลวออกทางหัวนมก็จำเป็นต้องส่งของเหลวนั้นตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย ว่ามีความผิดปกติอย่างไร

การรักษา

สามารถแยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1. ถ้าเป็นก้อนที่เป็นจากโรคมะเร็งเต้านม เช่น Paget’s disease ก็จะใช้หลักการรักษาแบบเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
2. ถ้าเป็นก้อนเนื้องอกทั่วๆไป เช่น Nipple Adenoma ก็สามารถผ่าตัดเลาะเอาก้อนออกจากหัวนมแบบการผ่าตัดเล็กทั่วๆไปได้

 

นพ. หะสัน มูหาหมัด