เมื่อตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้นในเต้านม สิ่งที่จะต้องทำต่อก็คือการตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อ เพื่อให้ทราบว่าความผิดปกติดังกล่าวเป็นอะไรกันแน่

ปัจจุบันนี้การตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อนี้จะเปลี่ยนมาทำกันในลักษณะที่ใช้เครื่องมือเล็กๆเพื่อไม่ให้มีผลกระทบหรือรบกวนต่อก้อนมะเร็งให้น้อยที่สุด ผู้ป่วยเองก็เจ็บน้อยที่สุด และขณะเดียวกันก็ต้องให้ผลการตรวจที่แม่นยำมากที่สุดด้วย และที่สำคัญกว่านั้น แผลจากการตรวจเนื้อเยื่อนั้นจะต้องไม่กระทบต่อแผนการรักษาในขั้นตอนต่อไป หากผลการตรวจเนื้อเยื่อนั้นกลับมาว่าเป็นเนื้อมะเร็ง

การตรวจชิ้นเนื้อในสมัยนี้มักทำโดยการเจาะเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อออกไปตรวจ โดยใช้เข็มขนาดเล็ก  (แตกต่างจากในอดีตที่ใช้การผ่าตัดเอาก้อนออกมาทั้งก้อน)

เนื้อหาต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีที่ใช้ในการตรวจเนื้อเยื่อของก้อนที่เต้านมที่ทำอยู่ในทางปฏิบัติ

1. การเจาะดูดเซลล์ หรือ FNA  (Fine Needle Aspiration ) เป็นการใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก คล้ายเข็มที่ใช้ฉีดวัคซีนทั่วๆไป  แทงเข้าไปในก้อนเนื้อแล้วดูดเอาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของก้อนเนื้อนั้นออกมา ตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์  วิธีนี้สามารถทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว   และประหยัดที่สุด สามารถทำที่ห้องตรวจตอนที่ผู้ป่วยมาพบแพทยได้เลย และทราบผลได้เร็วภายใน ไม่เกิน 24 ชั่วโมง  ผู้ป่วยมีความเจ็บคล้ายๆกับการเจาะเลือด

                                                               การทำFNA

                                  ลักษณะของเซลล์มะเร็งเต้านมที่เห็นจากการทำ FNA

2. การใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (Core Needle Biopsy)  ใช้อุปกรณ์ที่เป็นเข็มขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณเท่ากับเข็มที่เราไปบริจาคเลือด เจาะเข้าไปที่ก้อน แล้วเข็มก็จะตัดเอาเนื้อเยื่อในก้อนมาจำนวนหนึ่ง สำหรับส่งไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ วิธีนี้มีข้อดีคือได้เนื้อเยื่อมากกว่า FNA  และค่อนข้างแม่นยำสูง

                                              ลักษณะเนื้อเยื่อจากการทำ core biopsy 

                                               มักเพียงพอในการวินิจฉัย

3. การผ่าตัดเอาก้อนออกมาตรวจ  เป็นวิธีสุดท้ายที่จะทำ เนื่องจากใช้วิธีอื่นแล้วยังไม่ทราบ การวินิจฉัยที่ชัดเจน  และเป็นการกำจัดก้อนออกไปในคราวเดียวกันด้วย

                                              การผ่าตัดเอาก้อนออกมาตรวจ  

ทั้งสามวิธี ข้างต้นเป็นการตรวจเนื้อเยื่อกรณีที่เราคลำตัวก้อนได้ ชัดเจน แต่กรณีที่ก้อนยังเล็ก อยู่เราคลำก้อนไม่ได้ คือไม่รู้ว่าก้อนอยู่ที่ตรงจุดไหนของเต้านม ซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้นในทุกวันนี้ เนื่องจากผู้หญิงมีการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น เวลาเจอมะเร็งหรืออะไรที่เริ่มผิดปกติ ก็มักเจอในขณะที่ก้อนยังเล็กๆอยู่ หรือเป็นเพียงจุดหินปูนเล็กๆ  กรณีแบบนี้ก็ต้องใช้เทคนิคพิเศษ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากว่าจะเลือกการตรวจแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมีได้ตั้งแต่การเจาะตรวจ ไปจนถึงการผ่าตัดออกมาเลย หลักการมีอยู่ว่า จุดที่ผิดปกตินั้น ตรวจพบจากแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวนด์ หรือทั้งสองอย่าง คือถ้าตรวจพบด้วยเครื่องแมมโมแกรม (มักเป็นจุดหินปูน)  เราก็จะใช้แมมโมแกรมในการหาตำแหน่งของก้อน แล้ว เมื่อทราบพิกัดตำแหน่งเรียบร้อยแล้วทำการล็อคเป้าหมาย แล้วใช้เข็มเจาะตัดออกมา (stereotactic core biopsy) หรือ ใช้การผ่าตัดคว้านเนื้อเยื่อบริเวณนั้นออกมาก็ได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากก้อนนั้นพบจากอัลตราซาวนด์ ก็จะต้องใช้อัลตราซาวนด์ค้นหาตำแหน่งของก้อน แล้วใช้เข็มเจาะภายใต้การควบคุมทิศทางจากเครื่องอัลตราซาวนด์

กรณีตรวจพบความผิดปกติจาก แมมโมแกรม

1. Stereotactic biopsy  เป็นเจาะตรวจเนื้อเยื่อโดยอาศัย เครื่องแมมโมแกรมค้นหาพิกัดตำแหน่งของจุดผิดปกติในเต้านม(โดยมากมักเป็นจุดหินปูน) โดยการคำนวณของคอมพิวเตอร์ แล้วใช้เข็มเจาะเข้าไปตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่ผิดปกติภายใต้การควบคุมทิศทางจากคอมพิวเตอร์

                                                   การทำ stereo-tactic  biopsy

2. Needle localized biopsy  เป็นการผ่าตัดคว้านเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกมา โดยมีเข็มตะขอเกี่ยวเนื้อเยื่อบริเวณนั้นอยู่ การใส่เข็มตะขอเข้าไปเกี่ยวเนื้อเยื่อให้ถูกตำแหน่ง ก็ต้องอาศัยเครื่องแมมโมแกรมในการค้นหาจุดผิดปกติดังกล่าว
        การผ่าตัดคว้านเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกมา โดยอาศัยเครื่องแมมโมแกรมในการค้นหาจุดผิดปกติ

กรณีตรวจพบความผิดปกติจาก อัลตราซาวนด์

1. Ultrasound guided core biopsy  เป็นการอาศัยอัลตราซาวนด์ ค้นหาตำแหน่งของก้อนแล้วใช้เข็มเจาะภายใต้การควบคุมทิศทางจากเครื่องอัลตราซาวนด์
                การใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ภายใต้การกำหนดตำแหน่งด้วยอัลตราซาวนด์

 2. Needle localized biopsy  เป็นการผ่าตัดเอาก้อนออกมา โดยมีเข็มตะขอเกี่ยวก้อนเนื้ออยู่  โดยใช้อัลตราซาวนด์หาก้อน แล้วใช้เข็มเกี่ยวเอาไว้

การเลือกใช้การตรวจเนื้อเยื่อวิธีไหน ก็ต้องเลือกวีธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายๆไป  โดย ต้องมีการวางแผนที่สำคัญคือ ต้องไม่กระทบต่อการรักษาในขั้นตอนต่อไป หากผลการตรวจออกมาว่าเป็นเนื้อมะเร็ง

นพ. หะสัน มูหาหมัด