โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่เต้านม อันเป็นอวัยวะแสนหวงแหนของสุภาพสตรีทุกคน โดยนอกจากมีการทำลายตัวเต้านมโดยตรงแล้ว โรคร้ายนี้ยังมีการลุกลามแพร่กระจายกัดกินเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญอื่นๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายนี้มีความเจ็บปวดไม่สบายเป็นอย่างมาก และสุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงไปพร้อมกับความทุกข์ทรมานและนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจของญาติพี่น้อง

นอกจากนี้ข้อมูลระบาดวิทยาทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า มีสุภาพสตรีป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น และก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของสตรีไทยที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง  และจากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีสตรีไทยประมาณ  20 คน ในประชากรสตรี 100,000 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ในแต่ละปี หรือมีสตรีไทยทั่วประเทศ  ราว 8,000 คน ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ในแต่ละปี โดยเริ่มพบผู้ป่วยได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และพบได้สูงขึ้นเรื่อยๆไปจนถึงอายุ 70 ปี  และมีแนวโน้มว่าจะพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคนี้มากขึ้นในทุกๆปี สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ชัดเจน แต่ก็พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำให้เป็นโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่

1. การมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบว่าสตรีในกลุ่มนี้มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปีหลายเท่าอย่างชัดเจน

2. การมีประวัติทางพันธุกรรม พบว่าสตรีที่มีญาติ ได้แก่ แม่ ยาย ย่า พี่สาว น้องสาว ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะการที่ญาติเป็นโรคมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง  ตลอดจนถึงการที่มีญาติผู้ชายที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม  จะมีความเสี่ยงที่ตนเองจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไปมาก  และนอกจากนี้ยังพบว่าโรคมะเร็งอื่นๆ ในญาติ ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน ได้แก่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งสมอง  เป็นต้น

3. สตรีที่เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน พบว่า เต้านมอีกข้างก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้อีกเช่นกัน โดยพบได้ประมาณร้อยละ 1 ต่อปี

4. สตรีที่มีฮอร์โมนเพศหญิง (หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน)  อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่ถูกหล่อเลี้ยงเซลล์ ให้แบ่งตัวเจริญเติบโต ตามการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน  สตรีที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จึงมีการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้แบ่งตัวอยู่เป็นเวลานาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เซลล์เต้านมจะมีการแบ่งตัวผิดปกติไป จนทำให้กลายเป็นโรคมะเร็งเต้านมตามมาได้ ตัวอย่างสตรีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงได้แก่

– การมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว ( ก่อนอายุ 12 ปี )

– การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี

– การไม่มีบุตร หรือ คลอดบุตรคนแรกช้า ( อายุเกิน 30 ปี )

– การเข้าสู่วัยหมดระดูช้า (อายุเกิน 55 ปี)

– การใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดระดูเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างแน่นอนชัดเจน ทำให้การป้องกันโรคโดยตรงโดยการกำจัดสาเหตุหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุนั้นยังทำไม่ได้  แต่การตรวจเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งเพิ่งเริ่มก่อตัวเป็นโรคในระยะแรกๆ นั้น สามารถทำได้และให้ผลการรักษาที่ดี จนอาจสามารถกำจัดโรคให้หายขาดได้ นั่นคือที่มาของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม

 

                                          รูปแสดง การตรวจเอ็กซ์เรย์เต้านม (แมมโมแกรม) 

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในสตรีนั้น ได้ทำกันมานานแล้ว โดยเริ่มต้นเมื่อราว 30 ปีก่อน ในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา โดยใช้การตรวจด้วยวิธีเอ็กซเรย์เต้านม หรือที่เรียกกันว่า แมมโมแกรม   พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีที่ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีเอ็กซเรย์เต้านม จากโรคมะเร็งเต้านมลงได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง  ถึงแม้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมทำให้สามารถตรวจค้นหาสตรีที่เป็นโรคในระยะเริ่มแรก เพื่อให้ทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรกและ สามารถกำจัดโรคให้หายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ที่มาพบแพทย์ มักมาด้วยอาการที่เป็นมากแล้ว ได้แก่ มีก้อนที่เต้านม  มีแผลที่เต้านม  หัวนมยุบตัวลง หรือหัวนมมีผื่นผิดปกติ ในผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อทำการตรวจให้ละเอียดลงไปแล้ว จะพบว่ามักมีการแพร่กระจายของโรคไปมากแล้ว ทำให้จัดอยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะที่ 3 ของโรคมะเร็ง และส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลไม่ดี

                                    รูปแสดง  แผลที่เต้านมซึ่งเกิดจากโรคมะเร็งเต้านม

         รูปแสดง ก้อนขนาดใหญ่ของมะเร็งเต้านม (ผู้ป่วยรายนี้แพทย์สามารถรักษาให้หายได้ในที่สุด) 

                                 รูปแสดง  ตุ่มผื่นที่ผิวหนังเกิดจากโรคมะเร็งเต้านม

                                   รูปแสดง แผลที่หัวนม เกิดจากโรคมะเร็งเต้านม

การรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันก้าวหน้าไปมากในทุกๆ มิติของการรักษา ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด  การให้ยาเคมีบำบัด  หรือยาต้านฮอร์โมนเพศหญิงหลังการผ่าตัด  ตลอดไปจนถึงการฉายแสง (ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ )  นอกเหนือจากนี้ ยังมีการคิดค้นยาใหม่ๆ ที่ไปออกฤทธิ์กำจัดที่เซลล์มะเร็งโดยตรง โดยอาศัยเป้าหมายพิเศษที่ปรากฏอยู่เฉพาะที่เซลล์มะเร็งเท่านั้น  โดยที่เป้าหมายดังกล่าวจะไม่พบในเซลล์ร่างกายปกติ ทำให้ถือเป็นการรักษาที่ตรงเป้าที่สุด คือ ยาจะออกฤทธิ์กำจัดเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยที่ไม่ทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย  ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันประสบผลสำเร็จดีขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา

และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงและถือเป็นความก้าวหน้าใหม่ของการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมก็คือ การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล  ซึ่งแต่เดิมศัลยแพทย์จะต้องผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกราย  ออกมาตรวจร่วมด้วยเสมอ  เนื่องจาก มีความเชื่อว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้  และถือเป็นการกำจัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาด้วย โดยผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก ส่วนหนึ่งจะมีภาวะแทรกซ้อนคือ แขนบวมตามมาได้  ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่สามารถใช้งานแขนข้างนั้นได้  กระทบต่อคุณภาพชีวิต และมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก  ต่อมามีการตรวจพบว่ามีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้  และผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ทั้งหมดออก  ดังนั้นการคิดค้นเทคนิคการผ่าตัดหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลออกมาตรวจเพื่อจะได้ทราบว่า มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมายังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้วหรือไม่ หากยังไม่มีการแพร่กระจายมา ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ทั้งหมดออก  ถือเป็นการลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

รูปแสดงผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแขนบวมภายหลังจากการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

รูปแสดง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดแบบเก็บสงวนเต้านม และ ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (แผลเล็กๆ ที่บริเวณรักแร้)

 นพ. หะสัน มูหาหมัด