ปัจจุบันผลการตรวจเอกซ์เรย์ของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พิมพ์ออกมาเป็นแผ่นฟิล์มกันแล้ว แต่จะใช้การรายงานผลทางจอคอมพิวเตอร์  ผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในการฟังผลการตรวจได้สะดวกและดีขึ้น แพทย์เองก็มีความมั่นใจในความคมชัดของภาพได้ดีกว่าเดิม โดยสามารถขยายปรับแต่งความคมชัดได้ตามต้องการ เกิดประโยชน์ขึ้นมากทีเดียว

การนำอัลตราซาวนด์มาใช้ในการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมนั้น มีการนำมาใช้กันราว 20 ปีได้แล้ว โดยสามารถให้รายละเอียดของภาพความผิดปกติได้ในระดับดีมาก สามารถตรวจพบมะเร็งที่อยู่ในระยะเริ่มต้นได้ โดยเฉพาะมะเร็งที่เพิ่งเริ่มก่อตัวเป็นก้อนเล็กๆ  มะเร็งที่ตรวจพบได้จากอัลตราซาวนด์มักมาในรูปของก้อนเนื้อ ขนาดเล็กๆ แตกต่างกับมะเร็งที่พบในแมมโมแกรมซึ่งส่วนมากมักมาในรูปแบบของจุดหินปูน ดังนั้นการแยกแยะความผิดปกติของอัลตราซาวนด์จึงมักเป็นการวิเคราะห์ลักษณะของก้อนว่าเป็นเนื้อดี เนื้อร้าย อันตรายหรือไม่อันตรายอย่างไร

ทีนี้เราลองมาเรียนรู้วิธีดูลักษณะของก้อนเนื้องอกจากอัลตราซาวนด์อย่างคร่าวๆนะครับ ว่าแพทย์ด้านเต้านมเขาดูกันอย่างไรถึงสามารถบอกเราได้ว่าเป็นเนื้องอกอะไร เป็นมะเร็งหรือไม่ ก่อนอื่นต้องแยกเรื่องของถุงน้ำหรือซีสต์ (cyst) ออกไปก่อน เพราะ ซีสต์นี้ไม่ได้สำคัญอะไร และลักษณะทางอัลตราซาวนด์ก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าข้างในมีแต่น้ำ

สำหรับก้อนเนื้อ เราจะดูองค์ประกอบดังนี้

1. รูปร่างหรือรูปทรง (Shape)

2. ขอบเขต (Margin)

3. การจัดเรียงตัวว่าอยู่ในแนวตั้งหรือแนวนอน (Orientation)

4. การแยกตัวออกจากเนื้อเยื่อข้างเคียง

5. รูปแบบการสะท้อนคลื่นเสียงของเนื้อในก้อน (Echogenic pattern)

6. ลักษณะของเงาสะท้อนด้านหลังก้อน (Posterior acoustic shadow)

นอกจากก้อนเนื้อแล้ว เรายังดูลักษณะอย่างอื่นประกอบด้วยครับ เช่น การไหวเวียนเลือด (vascularity) ในบริเวณนั้น หรือ แม้แต่กลุ่มหินปูนเล็กๆ  แต่มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดและไม่เด่นชัดมากเท่ากับการดูก้อนเนื้อ

เนื้องอกชนิดธรรมดา มักมีรูปร่างเป็นวงรี หรือวงกลม เห็นขอบชัดเจน แยกจากเนื้อเยื่อโดยรอบได้คมชัด  มีการเรียงตัวในแนวนอน  เนื้องอกมะเร็งจะมีลักษณะ เป็นก้อนที่ไม่เป็นรูปร่าง (รูปร่างไม่แน่นอน ดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร) ขอบเขตไม่ชัดเจน แยกแยะไม่ออกจากเนื้อเยื่อรอบข้าง มีขอบเป็นแฉกๆ กระจายตัวไปทุกทิศทาง  การจัดเรียงตัวอยู่ในลักษณะแนวดิ่ง คล้ายๆ รูปเจดีย์

ในทางปฏิบัติก็อาศัยลักษณะดังกล่าวในการช่วยแยกแยะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถแยกแยะได้ถูกต้องเสมอไป คือมะเร็งบางครั้งก็ให้ภาพที่ดูเหมือนเนื้องอกธรรมดาได้ ดังนั้นถ้าเราตรวจพบเจอเนื้องอกที่ดูแล้วไม่อันตรายในครั้งแรก เราจำเป็นต้องมีการติดตามไปซักระยะเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะติดตามนานราวๆ 2 ปี จึงสามารถสรุปว่าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาจริงๆ แต่ถ้าเราตรวจพบเนื้องอกที่มีลักษณะเนื้อร้ายหรือ ลักษณะใดๆที่ไม่เข้าเกณฑ์ของเนื้องอกชนิดธรรมดา ก็ต้องมีการตรวจพิสูจน์เนื้อเยื่อทันที ไม่ควรถ่วงเวลาเพื่อติดตามดูไปก่อน เพราะถ้าหากเกิดเป็นมะเร็ง จะทำให้เสียโอกาสในการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ภาพเนื้องอกธรรมดา  : ลักษณะเด่นคือ เป็นรูปวงรี วางตัวแนวนอน เห็นขอบเขตชัดเจนและมีลักษณะเรียบ

ภาพก้อนเนื้อมะเร็ง : ลักษณะเด่นคือ รูปทรงไม่แน่นอน เห็นขอบเขตไม่ชัดเจน ขอบเขตไม่เรียบไม่คมชัด เรียงตัวแนวดิ่ง มีขอบแหลม เป็นแฉกๆ

นพ. หะสัน มูหาหมัด