โรคมะเร็งเต้านม ไม่ได้เป็นโรคที่รักษาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว  เนื่องจากผลการรักษาในทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก อันเป็นผลมาจาก

1. การที่เราสามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรก

2. การผ่าตัดที่มีคุณภาพดีขึ้น

3. การใช้การรักษาแบบผสมผสานร่วมด้วย

4. มีระบบการติดตามการรักษาที่ดีขึ้น

 

มะเร็งเต้านมทุกวันนี้ เปรียบเสมือนโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ต้องมีการรักษา รับยา ติดตาม คอยควบคุมโรคกันไปตลอด ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไตวาย ที่ต้องมารักษาต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ 

กลไกการเกิดมะเร็งเต้านม เป็นกระบวนการที่มีการก่อตัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากเซลล์ผิดปกติเพียงหนึ่งเซลล์ก่อน จากนั้นก็จะค่อยๆ แบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์เป็นกลุ่มก้อนและขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนมีขนาดโตสามารถคลำได้ หรือมีอาการผิดปกติจนสังเกตุได้ ผู้ป่วยจึงมาหาหมอ เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง มันก็อยู่ในระยะที่มากแล้ว บางครั้งก็เป็นระยะ สาม หรือ สี่ ทำให้ผลการรักษาไม่ดี คือมาพบแพทย์ช้าไป โรคเป็นมากแล้ว  พูดง่ายๆ ก็คือขณะที่มะเร็งกำลังก่อตัวอยู่อย่างเงียบๆ เราก็ไม่รู้ตัว  พอมีอาการขึ้นมา  มันก็เป็นเยอะแล้ว ทำให้รักษาได้ผลไม่ค่อยดี

ปัจจุบันนี้เราทราบว่าสามารถตรวจค้นหามะเร็งขณะที่กำลังก่อตัวอย่างเงียบๆ อยู่โดยไม่ปรากฏอาการได้ ด้วยการทำแมมโมแกรม สามารถตรวจพบจุดผิดปกติจุดเล็กๆ ที่มะเร็งเพิ่งก่อตัวขึ้นมา และสามารถกำจัดออกไปได้ โดยการผ่าตัดเอาความผิดปกติเฉพาะส่วนนั้นออก ก็จะทำให้ผลการรักษาดีกว่าเดิมมาก เพราะเป็นการรักษาตั้งแต่โรคยังอยู่ในระยะแรก ยังไม่มีอาการ มะเร็งยังไม่ลุกลาม ยังไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยบางคนก็สามารถหายขาดจากโรคได้โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะที่ศูนย์ หรือความผิดปกติที่เพิ่งก่อตัวจริงๆ

ดังนั้น สตรีทุกคนถึงแม้ไม่มีอาการก็ควรเข้าการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตรวจพบอะไรผิดปกติในเต้านมก็จะได้รักษาแก้ไขได้ทันท่วงที ดีกว่าปล่อยให้เป็นก้อนแล้ว   เพราะจะรักษายากขึ้นและผลการรักษาจะแตกต่างกัน

นพ. หะสัน มูหาหมัด