เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งที่ฟังดูน่ากลัวมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คือคำว่าตัดนมทิ้ง สำหรับบางคน คำๆนี้ฟังดูเหมือนกับเป็นการที่ต้องสูญเสียอวัยวะที่สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงไป จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว รับไม่ได้ มากกว่าตัวโรคมะเร็งที่เป็นอยู่เสียอีก  ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ กลัวถูกตัดนม  ผู้ป่วยจึงหนีหายไป หรือไปรักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ถูกต้อง กลับมาอีกครั้งก็เป็นมากแล้ว กลายเป็นระยะสุดท้าย รักษายากกว่าเดิมขึ้นไปอีก หรือรักษาไม่ได้แล้วก็มี

ในความเป็นจริงการผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีหลายวิธีให้เลือกด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทั้งเต้าเสมอไป ตรงกันข้าม วิธีการผ่าตัดที่ดีคือการทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องตัดนมผู้ป่วยทิ้งมากกว่า หรือหากจำเป็นต้องใช้วิธีการตัดนม โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุผลความจำเป็นทางการแพทย์ ก็ควรต้องมีแนวคิดเพิ่มเติมว่าทำอย่างไร ถึงจะให้ผู้ป่วยกลับมามีหน้าอกที่คงเดิมได้ เพื่อให้การผ่าตัดมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต จิตใจผู้ป่วยน้อยที่สุด

เนื่องจากผลการรักษามะเร็งเต้านมทุกวันนี้ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อน หมายความว่าผู้ป่วยจะอยู่รอดมีชีวิตยืนยาวกันมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องนำมาคำนึงเสมอในการรักษาคนไข้มะเร็งเต้านมในสมัยนี้ก็คือ คุณภาพชีวิต นั่นหมายความว่าผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตได้ตามปกติ เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้เป็นโรคอะไร การผ่าตัดที่กระทำก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย

การผ่าตัดที่ดีต้องเริ่มจากการวางแผนตั้งแต่ต้นก่อนลงมือทำ (surgical planning) โดยผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเสมอ แพทย์เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล ว่าทำวิธีไหนได้ ไม่ได้ มีข้อห้าม ข้อดีข้อเสียอย่างไร  สุดท้ายเมื่อตัดสินร่วมกันได้แล้วก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาของการรักษาแต่ละอย่างไป

นพ. หะสัน มูหาหมัด