แม้การแพทย์ในบัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมได้    แต่มีหลักฐานว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นออร์โมนเพศหญิงในร่างกายผู้หญิงเรา  เป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น โดยในภาวะปกติร่างกายอาศัยฮอร์โมน estrogen ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามระยะการเจริญพันธุ์ เช่นการเข้าสู่วัยสาว  การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์  การเข้าสู่วัยทอง เป็นต้น   กล่าวได้ว่า ธรรมชาติกำหนดให้ ฮอร์โมน estrogen เป็นฮอร์โมนประจำเพศหญิง มีบทบาทสำคัญในการทำงานของร่างกาย เพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะของเพศหญิงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมน estrogen  ตั้งแต่เริ่มมีการเจริญเข้าสู่วัยสาวช่วงอายุ 15-16-17 ปี  เต้านมจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่างๆในเต้านมขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การกระตุ้นการแบ่งเซลล์จะมีไปตลอดช่วงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ไปจนร่างกายเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน คือรังไข่ฝ่อ หยุดการสร้างฮอร์โมน estrogen  เซลล์เต้านมก็จะแบ่งตัวน้อยลงตามลำดับ   พูดง่ายๆ ก็คือ เซลล์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามระดับฮอร์โมน  คือถ้าเต้านมใครมีระยะเวลาการอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนยิ่งนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม   เช่น คนที่มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าปกติ คือมีเมนส์ก่อนอายุ 12 ปี,  คนที่หมดเมนส์ช้ากว่า อายุ 55 ปี  คนที่ไม่มีบุตร เพราะการตั้งครรภ์เป็นการหยุดการการสร้างฮอร์โมน estrogen ทำให้เต้านมหยุดถูกกระตุ้นอยู่ช่วงนึงคือ 9 เดือนหรือเป็นปี หากให้ลูกกินนมแม่ด้วย  นั่นเองจะทำให้ร่างกายอาศัยช่วงนี้ในการกำจัดหรือซ่อมแซม (เกิด apoptosis ของเซลล์ที่ผิดปกติ)  เซลล์ที่ผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นมาในระยะก่อนหน้านั้น จึงเป็นที่มาของการที่มีลูกมาก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลงได้

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า บัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนระดับสูงในร่างกาย ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งเต้านม

เนื้อหาส่วนนี้จะนำเสนอปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือควบคุมได้

ภาวะอ้วน :  ภาวะอ้วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน   ถึงแม้รังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว  แต่ก็พบว่ายังมีปริมาณฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำที่ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย  ดังนั้นหากมีภาวะอ้วนก็จะทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยง    ภาวะอ้วนในผู้หญิงวัยที่มีประจำเดือนอยู่ไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง กลับกันความอ้วนอาจลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนได้

อาหาร :  ควรบริโภคอาหารประเภท พืชผัก ผลไม้ ร่วมกับหลีกเลี่ยง อาหารประเภทไขมัน เนื้อสัตว์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้

การออกกำลังกาย  : แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสอ 45-60 นาที  4-5 วันต่อสัปดาห์

การดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์

การสูบบุหรี่

การทานยาเม็ดคุมกำเนิด

การทานเสริมฮอร์โมนในสตรีวัยทอง

ความเครียด

2. ปัจจัยเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

อายุ : อายุมากขึ้น เป็นความเสี่ยงพื้นฐานของการเป็นโรคมะเร็งโดยทั่วไปอยู่แล้ว  ไม่ได้จำเพาะอยู่กับมะเร็งเต้านม เพียงอย่างเดียว

กรรมพันธุ์ : โรคมะเร็งทุกชนิดจัดเป็นโรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม (genetic disease) ชนิดหนึ่ง คือต้นตอของความผิดปกติจะอยู่ที่ การกลายพันธุ์ของยีน ที่อยู่ในสาย DNA ที่อยู่ภายในเซลล์  ยีนกลายพันธุ์นั้นอาจเกิดจาก

1. การถ่ายทอดมาทางสายเลือดจากพ่อแม่  (hereditary)

2. เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นเองในภายหลัง (sporadic) เช่นการได้รับสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม

โดยคำว่า “ยีน” เป็นคำที่ใช้เรียก รหัส ทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ( ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์) ยีนมีไว้สำหรับสร้างสารโปรตีนในร่างกาย   ถ้ามีความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของยีน ร่างกายก็จะได้ผลผลิตโปรตีนที่ผิดปกติจากยีนที่ผิดปกติ นั่นเอง  ทีนี้โปรตีนที่ผิดปกติก็จะไปทำหน้าที่ ที่ผิดปกติต่อๆกันไป   กรณีของโรคมะเร็ง โปรตีนผิดปกติ มักจะเป็นพวกโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น พวกเอนไซม์ที่กระตุ้นกระบวนการแบ่งเซลล์ ได้แก่  Growth factors, Growth factors receptors หรือ Ligands ต่างๆ  หรือ เอนไซม์ที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง (inhibit) กระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ ในมะเร็งเต้านม มีการค้นพบ ยีน ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งเต้านม ที่สำคัญคือ BRCA1 และ BRCA2  โดยยีนสองตัวนี้มีหน้าที่ในการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ (tumor suppressor gene) ชนิดหนึ่ง พบว่าคนที่มียีนนี้ผิดปกติจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงราว 70-80% ตลอดชีวิต และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกหลานได้

สำหรับมะเร็งเต้านมเราพบว่า ผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสาเหตุจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งขึ้นมาเองโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีญาติเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด  ดังเนื้อหาต่อไปนี้

1. ราว 10% เป็นชนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ชัดเจน (Hereditary breast cancer) โดยได้รับยีน BRCA จากตระกูล

– ถ่ายทอดทาง กรรมพันธุ์ แน่ๆ ถ้ามีญาติสายตรงเป็นก็ถือว่าเสี่ยงมาก ต้องพบแพทย์เพื่อบริหารความเสี่ยง คือเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายจะมียีนผิดปกตินี้อยู่ ดังนั้นมีสิทธิ์เกิดมะเร็งขึ้นในอวัยวะทุกอวัยวะที่ ยีนนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง ที่พบบ่อยได้แก่ เต้านม รังไข่ มดลูก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมากในผู้ชาย

– ยังไม่มีข้อมูลว่าคนไทยมีพาหะของยีน นี้กันมากแค่ไหน แต่ชาติพันธุ์ที่มีความชุกในยีนนี้ คือชาวยิว (Ashkenazi Jews)

– ในคนไทยแต่เชื่อว่าไม่น่ามาก น่าจะ ราวร้อยละ 5-10 ของประชากร

– ในทางปฏิบัติก็พบคนไข้ที่สงสัยว่าเข้าข่ายเป็นแบบนี้ อยู่เนืองๆ

– การรักษาคนไข้ที่สงสัยว่าอยู่ในกลุ่มนี้ จะพิเศษกว่าคนไข้ทั่วๆไป เพราะมีข้อต้องพิจารณามากมาย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาตัวผู้ป่วยเองทั้งในด้านการผ่าตัด จะผ่าเลือกวิธีแบบไหน การให้ยา การเฝ้าระวังมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ  รวมทั้งการรักษาญาติพี่น้องในตระกูล

 2. ราว 20% เป็นชนิดที่เกี่ยวข้องกับการที่มีบุคคลในตระกูลเป็นโรคมะเร็งชนิดใดๆ ก็ได้ (Familial breast cancer)

– มักผิดปกติในยีนที่เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากตระกูล

– ยีนที่ทราบแล้วมีอยู่หลายชนิด ทำให้เกิดความไม่เสถียรของสาย DNA  ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนอื่นๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น  คนๆนั้นก็เป็นมะเร็งได้ง่ายขึ้น

3. ราว 70% เป็นชนิดที่ไม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ ( Sporadic breast cancer)

– มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นในภายหลัง ไม่ได้รับการถ่ายทอดมาจากตระกูล

– มักเกี่ยวกับการได้รับสารก่อมะเร็ง หรือใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

– ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่

          1) การมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว ก่อนอายุ 12 ปี

          2) การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้า หลังอายุ 55 ปี

          3) การมีบุตรคนแรกช้า หลังอายุ 30 ปี

               นพ. หะสัน มูหาหมัด