การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในอดีต ผู้ป่วยไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย นอกจากจำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งอย่างเดียว ทำให้ไม่มีเต้านม หน้าอกแบนราบ และเมื่อการรักษาผ่านไป จะมีความรู้สึกสูญเสียเต้าของตนเองไป เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ วิตกกังวล และส่งผลให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง

ในสมัยถัดมา มีการค้นพบวิธีการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดสงวนเต้า กล่าวคือเป็นการผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะเนื้อเยื่อเต้านมส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยสามารถเก็บรักษาเต้านมที่ปกติไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กๆ และมีเนื้อเยื่อเต้านมเหลือมากพอ ตลอดจนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต้นๆ มีทางเลือกเพิ่มขึ้นจากเดิม แทนที่จะต้องตัดเต้าทั้งหมด กลับมาสามารถเลือกวิธีการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบเก็บสงวนเต้านมไว้ได้  ส่งผลให้ลดผลกระทบทางจิตใจเนื่องจากการสูญเสียเต้านมไปได้พอสมควร

แต่กระนั้นก็ตามใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายสามารถเลือกใช้การผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ มีผู้ป่วยอยู่ส่วนหนึ่งที่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องรักษาด้วยการตัดเต้าออกหมดเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น เป็นต้นว่าผู้ป่วยที่มีจุดมะเร็งเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการฉายแสงได้ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย มีประวัติทางพันธุกรรม ตลอดจนถึงกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการเก็บเต้าเอาไว้แต่ก็ต้องการมีเต้านมใหม่เสริมขึ้นมา

การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าเป็นอันมากในทุกๆมิติของการรักษา ไม่ว่าในเรื่องการผ่าตัดที่มีทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยได้หลากหลายวิธี (complex choice) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การรักษาไม่กี่วิธี (easy choice) หรือไม่มีทางเลือกเลย คือต้องตัดเต้าอย่างเดียว (no choice)

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดพร้อมเสริมเต้าไปด้วยกัน สามารถทำได้อย่างปลอดภัย ในผู้ป่วยมะเร็งทุกคน และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีมาตรฐานของการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ ยืนยันถึงข้อดี มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตน้อยกว่าการตัดเต้าทิ้งโดยไม่เสริม ในขณะที่ได้ผลในการรักษามะเร็งเหมือนกัน และอาจดีกว่าในกรณีที่มีการผ่าตัดเชิงป้องกันมะเร็งเต้านมอีกข้างไปด้วย  แต่เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนต้องใช้กระบวนการผ่าตัดที่ละเอียด มีความแม่นยำสูง และต้องมีการวางแผนก่อนผ่าตัดเป็นอย่างดี เพราะมิฉะนั้นจะเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า และอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการรักษามะเร็งเต้านมได้

วิธีการผ่าตัดเสริมเต้าหลังตัดมะเร็งเต้านมที่เป็นที่นิยมสูงมากขึ้นในทุกวันนี้ คือการผ่าตัดเสริมโดยใช้ซิลิโคน ทดแทนเต้านมที่ถูกผ่าตัดออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถมีเต้านมที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้

ขั้นตอนการผ่าตัดแรกที่สำคัญคือ ศัลยแพทย์จะออกแบบ วางแผนเขตแนวแผลผ่าตัด การวัดขนาดหน้าอก การเลือกขนาดซิลิโคนให้เหมาะสมกับขนาดหน้าอกผู้ป่วย 

ขั้นตอนระหว่างการผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ โดยเฉพาะความแม่นยำในการผ่าตัด โดยจะต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมออกให้หมด โดยต้องไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณผังผืดที่ราวนมด้านล่างซึ่งจะเป็นที่กำหนดขอบล่างของเต้านม จากนั้นศัลยแพทย์จะต้องเลาะช่องใต้กล้ามเนื้อหน้าอกเพื่อใช้เป็นช่องว่างสำหรับใส่ซิลิโคน หากเลาะได้ไม่ดี จะทำให้เต้านมผิดรูปไปจากที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ หรืออาจทำให้มีการเลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งของซิลิโคนตามมาในอนาคตได้

ส่วนการเย็บแผลก็ต้องวางแผนอย่างดีเช่นกัน ไม่ให้ผิวหนังตึง หรือหย่อนจนเกินไป จนอาจมีผลต่อการหายของแผล เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้

ปัจจุบันนี้การผ่าตัดเสริมเต้าด้วยซิลิโคน ถือว่าเป็นวิธีผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมที่ดีวิธีหนึ่ง ทำได้ง่าย ปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ชัดเจน ตลอดจนผลลัพธ์ด้านความสวยงามอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

  นพ.หะสัน มูหาหมัด