โรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เก่าแก่ ถือกำเนิดขึ้น มาพร้อมๆกับการก่อกำเนิดของมนุษยชาติ แต่มนุษย์เพิ่งมีความเข้าใจในโรคนี้ และเริ่มมีการค้นพบวิธีการรักษาที่มาถูกทางเมื่อไม่เกิน 50-60 ปีนี้เองนับตั้งแต่เริ่มมีการนำวิธีการรักษาแบบผสมผสานมาใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม

การผ่าตัดเป็นหนึ่งในหลายๆวิธีที่ใช้ร่วมกันในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม และเป็นวิธีแรกที่มักต้องรีบทำเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีมะเร็งเต้านมเกิดขึ้น  โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการกำจัดโรคร้ายออกไปก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นก็จะใช้วิธี อื่นๆ ในการรักษา เพิ่มเติมเข้ามาเป็นลำดับถัดไป   จึงจะครบองค์ประกอบของการรักษา

นับตั้งแต่อดีต การผ่าตัดถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมและเป็นการเปลี่ยนความเชื่อของโลกเสียใหม่ว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ จากเดิมที่โลกเคยเชื่อว่าโรคนี้เป็นโรคที่มนุษย์ไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากในยุคโบราณเชื่อว่ามะเร็งเต้านมจึงเป็นโรคที่เกิดจากการลงโทษของเทพเจ้า หรือถูกกลั่นแกล้งจากวิญญาณปิศาจร้าย    การรักษาคือการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ การขอพรวิงวอนจากเทพเจ้า การรักษาที่มนุษย์พอจะสามารถทำได้ในยุคนั้น ก็เช่นการล้างชำระแผล การถ่ายเลือด การใช้ความร้อนหรือสารเคมีทำลายก้อนมะเร็ง                  หลักฐานที่บันทึกเรื่องราวของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เกิดขึ้นเมื่อราว 2,500-3000 ปีก่อนคริสตกาล  ในยุคอียิปต์โบราณโดยมีการค้นพบบันทึกทางการแพทย์ในกระดาษปาปิรุส (Edwin Smith Surgical Papyrus เชื่อว่าบันทึกโดย  Imhotep  แพทย์และสถาปนิกอียิปต์ในยุคนั้น) บรรยายอาการเป็นก้อนที่เต้านมของผู้ป่วย  ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นจากโรคมะเร็งเต้านม

                                   รูปปั้น Imhotep ในพิพิธภัณฑ์ Louvre ประเทศฝรั่งเศส

ในยุคนั้นผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ จะพึ่งการรักษาจาก เทพเจ้า แม่มดหมอผี มีการใช้สิ่งต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติเช่น มูลสัตว์ ซากสัตว์ น้ำยาสารเคมี เหล็กร้อนเผาไฟจี้ บ้างกันไป ไม่มีหลักการที่แน่นอน ผู้ป่วยจะออกมาปรากฎตามแหล่งชุมชมเพื่อขอความเห็น ข้อแนะนำการรักษาจากผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา  ต่อมาในยุคกรีก และโรมันก็มีการกล่าวถึงโรคมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน แพทย์ชาวกรีกในยุคนั้น (Hippocrates) เชื่อว่าโรคมะเร็งเต้านมเกิดจากความไม่สมดุลของน้ำดีสีดำ (ฺBlack bile) ที่มีมากเกินไปในร่างกายเนื่องตับทำหน้าที่ผิดปกติ ส่งผลให้เลือดดำคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทองในยุคนั้นที่หมดประจำเดือนแล้ว แต่ถูกเข้าใจว่าเลือดประจำเดือนเป็นเลือดเสีย ต้องมีการถ่ายออกไปตลอดชีวิต ถ้าผู้หญิงไม่มีเลือดประจำเดือนก็หมายถึงมีเลือดเสียหรือน้ำดีสีดำคั่งค้างอยู่ในร่างกายเพิ่มมากขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็งเต้านม ซึ่งสอดคล้องกับการที่มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทองอยู่แล้ว ก็เป็นการสนับสนุนความคิดนี้กันไปใหญ่

                                          รูป Hippocrates  บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก

การรักษาในสมัยนั้นก็ไม่มีหลักการที่แน่นอน เป็นการรักษาไปเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะเช่นการถ่ายเลือดออกจากร่างกาย การตัดก้อนออก การใช้สารเคมีกัดทำลายก้อนเนื้อ  การจี้เผาด้วยเหล็กเผาไฟ  การควบคุมอาหารเป็นต้น ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันล่มสลาย ความรู้ ศิลปวิทยาการต่างๆก็ถดถอยลงไป ประเทศต่างๆในยุโรปก็แตกตัวออกเป็นอาณาจักรต่างๆมากมาย เป็นการเข้าสู่ยุโรปยุคกลาง (Medieval, ค.ศ. 476-1500) ความเจริญทางการแพทย์ในยุคนั้นก็หยุดชะงักลง เนื่องจากขัดกับหลักความเชื่อของศาสนจักร  มีการห้ามผ่าศพศึกษาโรค  การรักษาพยาบาลต่างๆ จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนจักร นำโดยนักบวช มีการใช้เวทมนต์ อำนาจวิเศษของนักบวชที่เชื่อมต่อกับพระเจ้า เช่นการทาบฝ่ามือบนตัวโรค เป็นต้น

การผ่าตัดจะถูกห้ามเนื่องจากถูกมองว่าเป็นวิธีที่ใช้สำหรับการทรมานผู้คน ไม่ใช่เป็นวิธีที่ใช้สำหรับรักษาโรค ถัดมาในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ( ยุค Renaissance ศตวรรษที่ 16-18 ) ก็มีการนำความรู้เดิมที่สะสมมาตั้งแต่ยุคโรมันมาปรับปรุง พัฒนาใหม่ มีการเจริญก้าวหน้าของวิทยาการแพทย์มากขึ้นเนื่องจากมีการเปิดกว้างทางความคิด เป็นอิสระจากศาสนจักร การผ่าตัดมะเร็งเต้านมก็ถูกนำมาใช้ในการรักษากันมากขึ้น มีบันทึกเรื่องราวการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดอยู่อย่างต่อเนื่อง การผ่าตัดในยุคนั้นทำกันง่ายๆ คือเป็นการเฉือนเต้านมทิ้งกันสดๆ โดยใช้สายหนังผูก หรือใช้เหล็กเสียบดึงเต้านม แล้วใช้อุปกรณ์คล้ายเคียวตัดเฉือนเต้านมออกไป จากนั้นก็ใช้เหล็กเผาไฟร้อนจี้แผลรอยเฉือนที่หน้าอกเพื่อห้ามเลือด โดยมีการผูกมัดผู้ป่วยเอาไว้กับเสา หรือต้นไม้ หรือใช้ผู้ชายหลายคนช่วยกันจับ

                                       ภาพการผ่าตัดมะเร็งเต้านมที่ทำกันในยุโรปในอดีต

จนกระทั่งก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 17  การรักษาด้วยการผ่าตัดยังเป็นวิธีที่มีความนิยมกันมากขึ้น พูดง่ายๆคือเริ่มมากันถูกทาง แต่วิธีการผ่าตัดก็ยังดูโหดร้ายอยู่ โดยมีบันทึกว่าผู้ป่วยถูกผ่าตัดโดยยังรู้สึกตัว หรือสะลึมสะลือให้เมา จากการให้ดื่มไวน์  การผ่าตัดก็ยังโชกเลือดอยู่  ผู้ป่วยสามารถเห็นโลหิตตนเองไหลนองพื้นขณะผ่าตัดเลยทีเดียว   เนื่องจากศัลยแพทย์ในยุคนั้นต้องรีบผ่าตัดอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน เป็นการจบขั้นตอนการผ่าตัดให้เร็วที่สุดว่ากันว่าใช้เวลาราว ไม่กี่นาทีในการเฉือนนมออกจนเสร็จ ในยุคนั้นการผ่าตัดเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากการผ่าตัด  โดยมีการเสียเลือดและการติดเชื้อเป็นสาเหตุที่สำคัญ

ตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาถือเป็นก้าวกระโดดของความเจริญทางการแพทย์ เนื่องจากมีการค้นพบยาสลบ การค้นพบเทคนิคการปลอดเชื้อ ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบกล้องจุลทรรศน์ มีการเริ่มศึกษาชิ้นเนื้อมะเร็งทำให้ทราบว่าก้อนมะเร็งแท้จริงแล้วเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติ แทนที่จากเดิมที่เคยเชื่อว่าเป็นจากการมีน้ำดีสีดำมากเกินไปในร่างกาย และจากการศึกษาชิ้นเนื้อจากตำแหน่งต่างๆในร่างกายของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม ก็ยังทำให้ทราบว่าโรคมะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกายได้ด้วย เช่นต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งที่อยู่ใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่นๆ     ศัลยแพทย์ในยุคนั้นจึงได้คิดค้นวิธีการผ่าตัดให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ดังกล่าวคือ การผ่าตัดจะต้องเอาก้อนมะเร็งออกเป็นบริเวณกว้างๆ และตามด้วยการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่คาดว่ามะเร็งจะลามมาถึงออกให้หมด เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้

                                              William Stewart Halsted 1852-1922

ในปี 1894  William Stewart Halsted   ศัลยแพทย์ ชาวอเมริกันจาก Johns Hopkins Hospital ได้รายงานเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบใหม่ (ในยุคนั้น)  โดยสามารถลดอัตราการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งลงได้เป็นอย่างมาก คือลดลงเหลือราวร้อยละ 6  เมื่อเทียบกับการผ่าตัดที่ทำกันในยุโรปยุคนั้น (คือในสมัยนั้นความเจริญทางการแพทย์ยังอยู่ที่ยุโรป)  ผลการผ่าตัดมะเร็งเต้านมที่ทำในยุโรปในช่วงนั้นมีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดอยู่ที่ ร้อยละ 18.5  และมีอัตราการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งภายในระยะสามปี สูงถึง ร้อยละ 82

การผ่าตัดตามวิธีการของ Halsted  ถือเป็นก้าวแรกของการผ่าตัดมะเร็งเต้านมสมัยใหม่  โดยวิธีการผ่าตัดจะเป็นแบบ ตัดทุกอย่างที่อยู่บริเวณหน้าอกผู้หญิงออกจนหมดเกลี้ยง ตลอดจนถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แม้แต่ผิวหนังที่ห่อหุ้มบริเวณหน้าอก เหลือไว้เพียงกระดูกซี่โครง แล้วปล่อยให้แผลหายเอง (ต่อมามีการใช้วิธีตัดผิวหนังจากหน้าขามาปิดปกคลุมแผลเอาไว้)  จากความเชื่อที่ว่า เวลาเกิดโรคมะเร็งเต้านม เนื้อมะเร็งจะค่อยๆเติบโตจากบริเวณเต้านมก่อนแล้วจะค่อยๆแพร่กระจายแบบขยายวงลุกลามจากจุดต้นกำเนิดไปเรื่อยๆ  ทำให้เกิดแนวคิดว่ายิ่งตัดเนื้อเยื่อออกเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสหายจากโรคมากขึ้นเท่านั้น  ทำให้การผ่าตัดมะเร็งเต้านมในสมัยนั้นเป็นสิ่งที่น่าขยาดกลัวสำหรับผู้หญิงยุคนั้นมาก เพราะผลจากการผ่าตัดจะทำให้ผู้ป่วยมีแผลขนาดใหญ่ มีแผลเป็นที่น่าเกลียด แขนบวม จากการที่ต้องตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้แล้ว การรักษามะเร็งเต้านมในยุคนั้นเน้นการรักษาแบบเฉพาะที่ คือใช้การผ่าตัดเป็นวิธีหลัก  ผลการรักษาก็ยังไม่ได้ผลดี คือผู้ป่วยก็ยังเสียชีวิตจากการแพร่กระจายอยู่ดี โดยเฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้แค่ 2-3 ปี หลังจากผ่าตัด เท่านั้น

                                       วิธีการผ่าตัดมะเร็งเต้านมของ William Halsted

ต่อมามีการค้นพบว่ามะเร็งเต้านมเมื่อเป็นขึ้นมาแล้วสามารถแพร่กระจายออกไปได้ตั้งแต่มันเริ่มก่อตัว ไม่ได้เป็นแบบค่อยๆขยายวงเหมือนความเชื่อดั้งเดิม ทำให้มีการเปลี่ยนแนวคิดในการรักษาโรคนี้ขึ้นมาใหม่ โดยหันมาใช้การรักษาแบบผสมผสาน ได้แก่การรักษาเฉพาะที่ ร่วมกับการใช้ยา และมีการเริ่มลดความจำเป็นในการผ่าตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้าง เพื่อลดผลกระทบจากการผ่าตัดลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โดยในปี 1975 มีการนำยาเคมีบำบัดมาใช้ร่วมในการรักษาด้วยเพื่อลดการแพร่กระจาย พบว่าผลการรักษาดีขึ้น สามารถลดการเสียชีวิตจากการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมลงได้

ทำให้เป็นการเปิดตัวทฤษฎีใหม่ของการรักษามะเร็งเต้านม เปลี่ยนจากความคิดเดิมที่เคยเชื่อว่าในการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว เป็นความคิดใหม่ว่าการรักษาเฉพาะที่โดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ต้องใช้การรักษาทางยาร่วมด้วย ฉะนั้นการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันจึงเป็นการรักษาแบบผสมผสาน คือใช้หลายวิธีร่วมกัน (ได้แก่การผ่าตัด ให้ยา ฉายแสง)

เมื่อพบว่าการผ่าตัดไม่ได้ถือว่าเป็นพระเอกของการรักษาแล้ว จากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีการทบทวนวิธีการผ่าตัดใหม่โดยลดความสำคัญของการตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้าง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แพทย์ในอดีตหลายท่านก็เริ่มมีการพัฒนาดัดแปลงเทคนิควิธีการผ่าตัดแบบต่างๆขึ้นมา โดยลดบริเวณเนื้อเยื่อที่ต้องผ่าตัดออกลง เรื่อยๆ มา แต่ยังคงเป้าหมายเดิมไว้คือ

1.กำจัดเนื้อร้ายที่เกิดขึ้น

2.สามารถนำเนื้อเยื่อมาตรวจวินิจฉัย จัดแบ่งระยะของโรคได้

3.ป้องกันไม่ให้โรคกลับเป็นซ้ำ

                                    วิธีการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งเต้าที่ทำกันในปัจจุบันนี้

หากเราพิจารณาจากเป้าหมายของการผ่าตัด ทำให้องค์ประกอบของการผ่าตัดมะเร็งเต้านมในปัจจุบันจะประกอบด้วย

  1. การผ่าตัดเพื่อขจัดก้อนเนื้อร้ายที่เต้านม
  2. การผ่าตัดในส่วนของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่อาจมีมะเร็งแพร่กระจายเข้าไป

ฟังดูแล้ว ก็ต้องตัดทั้งเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก  การผ่าตัดในหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ จริงๆ คือเป็นการตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปพร้อมกัน (modified radical mastectomy) ถือเป็นมาตรฐานดั้งเดิมในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมอยู่ช่วงหนึ่ง  ผู้ป่วยก็จะไม่มีหน้าอก คือ แบนราบ หลังผ่าตัด และมีอาการชาผิวหนังหน้าอกตรงที่เคยเป็นเต้านมอยู่ก่อน

ต่อมามีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการตัดเต้านมออกทั้งหมด โดย มี Umberto Veronesi   ศัลยแพทย์ผู้วิจัยจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมืองมิลาน อิตาลี    และ Bernard Fisher แพทย์ผู้วิจัยจากสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดคล้ายกันว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก โดยเหลือเนื้อเยื่อเต้านมส่วนที่ดีเอาไว้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งเพื่อลดผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ป่วยที่ถูกตัดเต้านมทิ้ง  และต่อมาได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ได้ข้อสรุปว่า  สามารถทำได้ มีความปลอดภัยในการรักษาโรคมะเร็งได้ทัดเทียมกับการผ่าตัดแบบเก่า(การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า)

หลังจากนั้นวงการแพทย์ก็ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการผ่าตัดทั้งสองวิธีนี้กันมากขึ้น จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกโดยเหลือเต้านมที่ปกติเอาไว้ ให้ผลการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ไม่แตกต่างกับวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม  ถือเป็นอีกความก้าวหน้าที่สำคัญของโฉมหน้าประวัติศาสตร์การผ่าตัดโรคมะเร็งเต้านมในโลกปัจจุบัน  เป็นจุดเริ่มของการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ที่ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการสูญเสียเต้านม

การผ่าตัดแบบสงวนเต้า

                                           แผลผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้า

สำหรับส่วนของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ก็มีแนวคิดว่า สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ได้หรือไม่ แนวคิดนี้มีสาเหตุจาก การพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ถูกผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกไป  หลังจากเวลาผ่านไป มักมีอาการแขนบวมตามมา เนื่องจากระบบระบายน้ำเหลืองเสียไป จึงเกิดน้ำเหลืองคั่งค้างที่แขน มือ ทำให้ เกิดการบวมที่แขนอย่างถาวร บางคนแขนบวมมากจน สูญเสียการทำงานของแขนข้างนั้นไปเลย

การเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทำไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกำจัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ที่อาจมี เซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาถึง  อีกทั้งยังเป็นการนำต่อมน้ำเหลืองรักแร้ไปตรวจเพื่อใช้แบ่งระยะของโรคอีกด้วย  แต่ก็มีข้อเสียคืออาการแขนบวมที่อาจเกิดตามมา  และอาการชาแขน ที่เป็นอย่างถาวร รักษาไม่หาย จึงเกิดแนวคิดในการหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ว่า สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำได้หรือไม่ ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่เราตรวจทราบก่อนแล้วว่าเซลล์มะเร็งยังไม่ได้แพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นส่วนหนึ่ง จะยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้  ดังนั้นหากผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออก หมดในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกคน  ก็เท่ากับว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งถูกผ่าโดยไม่จำเป็น และจะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือแขนบวมตามมาได้ แนวคิดนี้เป็นที่มาของการตรวจต่อมน้ำเหลืองให้ทราบก่อนว่ามีเซลล์มะเร็งกระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้วหรือยัง (sentinel lymph node biopsy) หากยังไม่แพร่กระจาย ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเลาะต่อมน้ำเหลืองออกมา   หากพบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไปแล้ว ก็จำเป็นต้องผ่าต่อมน้ำเหลืองออกมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าถึงวิวัฒนาการของการผ่าตัดมะเร็งเต้านมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  การผ่าตัดมะเร็งเต้านมในทุกวันนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนในอดีต   มีทางเลือกของการผ่าตัดมากมายหลายอย่าง การผ่าตัดบางแบบผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น หรือสามารถทำแบบไม่ต้องนอนค้างคืนในโรงพยาบาลก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของทางการแพทย์อีกก้าวหนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม

สุดท้ายนี้ อยากเน้นย้ำสักนิดว่าการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้ เป็นการรักษาแบบผสมผสาน การหายหรือไม่หายจากโรคไม่ได้ขึ้นกับการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และที่สำคัญความรุนแรงของโรคยังขึ้นกับปัจจัยภายใน (biological aggressiveness) ของเซลล์มะเร็งอีกด้วย

 เรียบเรียงโดย นพ. หะสัน มูหาหมัด